ไม้เถา กิ่งมีริ้ว ใบประกอบแบบแยกสามส่วน ยาว 13–28 ซม. รวมก้าน ใบย่อยรูปไข่ ยาว 7–16 ซม. ปลายแหลมยาว โคนตัดหรือเว้าตื้น ขอบจักซี่ฟัน ปลายมีติ่งแหลม เส้นโคนใบข้างละ 2 เส้น ก้านใบย่อยยาว 1–1.5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1–8 ซม. มีได้ถึง 20 ดอก ใบประดับขนาดเล็กรูปแถบ ก้านดอกยาว 1.5–4 ซม. ใบประดับย่อยติดใต้กึ่งกลางหรือโคนก้านดอก ดอกรูประฆัง สีเหลืองอมเขียว มี 4 กลีบ ขอบด้านนอกและปลายกลีบด้านในมีขนสั้นนุ่ม กลีบรูปใบหอก ยาว 1.3–2 ซม. พับงอกลับ ก้านชูอับเรณูยาว 0.5–2 ซม. ช่วงบนมีขน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปแถบ อับเรณูยาว 2–4 มม. ผลรูปรี ยาว 3–6 มม. ก้านเกสรเพศเมียที่ขยายยาว 3.5–4 ซม. มีขนยาวหนาแน่น ขนยาวประมาณ 3.5 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ พวงแก้วกุดั่น, สกุล)
พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า และภาคเหนือของไทยที่ดอยอินทนนท์ และดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 700–2500 เมตร ใน Flora of China ให้เป็นชื่อพ้องของ C. siamensis J.R.Drumm. & Craib และแยกเป็น var. clarkei (Kuntze) W.T.Wang และ var. monantha (W.T.Wang & L.Q.Li) W.T.Wang & L.Q.Li
|