ไม้พุ่ม สูง 1–2 ม. มีขนและต่อมกระจายตามแผ่นใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบรูปฝ่ามือ 3–7 พู รูปไข่กว้างหรือเกือบกลม ส่วนมากยาว 10–30 ซม. ปลายแฉกแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาวได้ถึง 15 ซม. ช่อดอกรูปคล้ายพีระมิด ยาวได้ถึง 50 ซม. ก้านช่อเป็นเหลี่ยม ใบประดับคล้ายใบ รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 1–5 ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาวได้ถึง 1 ซม. ดอกสีส้มแดง กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาวประมาณ 5 มม. หลอดกลีบยาว 1–1.5 ซม. กลีบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 0.7–1.4 ซม. เกสรเพศผู้ยาว 3–4 เท่าของกลีบดอก รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้อันยาว ผลกลม จัก 2–4 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–9 มม. สุกสีดำ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ นางแย้ม, สกุล)
พบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ส่วนมากขึ้นตามชายป่า หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร บางครั้งพบเป็นไม้ประดับ และมีดอกสีเหลือง ลักษณะทั่วไปคล้ายกับปิ้งแดง C. intermedium Cham. ที่ใบไม่จักเป็นพู และปิ้งแดงดง C. japonicum (Thunb.) Sweet ที่กลีบเลี้ยงยาวกว่า น้ำคั้นจากใบแก้ปวดท้อง แก้ไอ แก้เจ็บคอ
|