สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



พญาไม้
วันที่ 30 มกราคม 2560

Podocarpus neriifolius D.Don

Podocarpaceae

ไม้ต้น สูง 25–30 ม. เปลือกบางลอกออกเป็นแผ่น ใบเรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปแถบ หนา โค้งเล็กน้อย ยาว 7–20 ซม. ปลายแหลม โคนใบรูปลิ่ม เรียวจรดก้านที่สั้น เส้นกลางใบนูนทั้งสองด้าน โคนเพศผู้ออกเป็นกลุ่ม 2–3 ช่อ ตามซอกใบ ยาว 2.5–5 ซม. ไร้ก้าน กลีบประดับจำนวนมากเรียงเวียน เมล็ดเปลือยอยู่บนฐานอวบน้ำที่พัฒนามาจากเกล็ดของออวุล ออกเดี่ยว ๆ ก้านยาว 1–2 ซม. ฐานรองอวบหนา ยาวเท่า ๆ ก้าน ที่โคนมีใบประดับ 2 ใบ รูปลิ่มแคบ เมล็ดมีเยื่อหุ้ม คล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ยาว 1–1.5 ซม. สุกสีม่วงแดง

พบที่อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูง 600–1500 เมตร

สกุล Podocarpus L’Hér. ex Pers. เป็นพืชเมล็ดเปลือย มีประมาณ 100 ชนิด พบในเขตร้อน เขตอบอุ่น และแถบแอนตาร์กติก ในไทยมี 3 ชนิด พญาไม้ใบสั้น P. pilgeri Foxw. ใบยาว 1.5–2.5 ซม. ปลายกลมหรือมน พบที่เขากรวบ ชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดตราด และสนใบพาย P. polystachyus R.Br. ex Endl. ใบสั้นกว่าพญาไม้ โคนเพศผู้ออกเป็นกลุ่ม 3–5 ช่อ พบที่ภูหลวง จังหวัดเลย ส่วนอีก 2 ชนิด ได้ย้ายไปอยู่สกุล Nageia คือ ขุนไม้ N. wallichiana (C.Presl) Kuntze และ ซางจีน N. motleyi (Parl.) de Laub. ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “pous” เท้า และ “karpos” ผล ตามลักษณะเมล็ดติดบนเกล็ดที่เจริญอวบน้ำเหมือนเท้า

อนึ่ง de Laubenfels (2015) ได้จำแนก Podocarpus neriifolius D.Don ออกเป็น 8 ชนิด และอีก 2 varities พบในไทย 2 ชนิด คือ P. neglectus Blume พบที่นครศรีธรรมราช และ P. hookeri de Laub. พบที่เชียงใหม่ นครนายก ตราด และนราธิวาส ซึ่งภาพใต้คำบรรยายอาจเป็นชนิด P. neglectus Blume ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ให้เป็นชื่อพ้องของ P. neriifolius D.Don

ชื่อสามัญ  Black pine podocarp

ชื่ออื่น   ขุนไม้ (นครราชสีมา, ปัตตานี. ภาคเหนือ); ซางคำ, ซางจิง, ซางหอม (เชียงใหม่); ดอกโต (เลย); ทูดุกลี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); บัวละแวง (เชียงราย); ไผ่ลำต้น (อุดรธานี); พญาได้ราก (นครราชสีมา); พญาไม้ (เชียงใหม่); มหาจาง (ภาคเหนือ); สมุลแว้ง (ภาคกลาง); เส่วาลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ฮั้งไก้ (จีน)

พญาไม้: ใบหนา เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทั้งสองด้าน เมล็ดเปลือยอยู่บนฐานที่อวบน้ำ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

de Laubenfels, D.J. (2015). New sections and species of Podocarpus based on the taxonomic status of P. neriifolius (Podocarpaceae) in Tropical Asia. Novon 24(2): 133–152.

de Laubenfels, D.J. (1988). Coniferales. In Flora Malesiana Vol. 10: 395–409.

Fu, L., Y. Li and R.R. Mill. (1999). Podocarpaceae. In Flora of China Vol. 4: 81.

Phengklai, C. (1975). Podocarpaceae. In Flora of Thailand. Vol. 2(3): 197–203.