เฟินอิงอาศัย เหง้าเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6–1.2 ซม. มีขนหนาแน่น เกล็ดสีน้ำตาลดำ ใบประกอบ 3 ชั้น รูปสามเหลี่ยม ยาว 15–90 ซม. กว้าง 20–40 ซม. ก้านใบแข็ง ยาว 10–35 ซม. ด้านบนและแกนกลางเป็นร่อง ใบประกอบย่อยเรียงเกือบตรงข้าม ใบประกอบย่อยที่สองเรียงสลับระนาบเดียว ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม มีก้านสั้น ๆ ใบย่อยไร้ก้าน รูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม ยาว 2–3 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบจักเว้าเป็นพูตื้น ๆ ไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบแตกเป็นง่าม กลุ่มอับสปอร์รูปกลม เกิดบนเส้นใบที่ปลายส่วนที่จักริมขอบใบ มีเยื่อคลุม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ นาคราช, สกุล)
พบที่จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย หมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นบนต้นไม้หรือโขดหินในป่าดิบชื้น และป่าพรุ ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร เหง้าใช้แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
|