สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ผักปลาบนา
วันที่ 30 มกราคม 2560

Cyanotis axillaris (L.) D.Don ex Sweet

Commelinaceae

ไม้ล้มลุก สูง 30–40 ซม. แตกแขนงใกล้โคนแผ่กว้าง เกลี้ยงหรือมีขนด้านเดียว กาบหุ้มลำต้น 0.5–1.2 ซม. มีขนยาวกระจาย ใบเรียงสลับระนาบเดียวหรือเรียงเวียน รูปแถบ ส่วนมากยาว 2–8 ซม. โคนเรียวจรดกาบใบ ขอบใบมีขนสาก แผ่นใบมีขนครุยด้านล่าง ช่อดอกอยู่ภายในกาบ ลดรูปเป็นกระจุก 3–8 ดอก บานทีละดอก ใบประดับย่อยบางใส ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปใบพาย ยาว 6–9 มม. ด้านนอกมีขนหยาบ กลีบดอก 3 กลีบ สีฟ้าอมม่วงหรือขาว กลางกลีบเชื่อมติดกัน หลอดกลีบดอกยาว 0.8–1 ซม. กลีบรูปไข่กว้าง ยาว 4–6 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 1–1.5 ซม. มีขนเครา อับเรณูสีเหลือง ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 1 ซม. ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก รูปรี แบน ยาว 4–7 มม. ปลายมีเขา 6 อัน มี 1–2 เมล็ด รูปรี ยาวประมาณ 2 มม. สีดำ มีรอยบุ๋มกระจาย

พบในแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ทางตอนบนของออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นเป็นวัชพืช ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร ทั้งต้นมีสรรพคุณกระตุ้นเลือดลม แก้ปวดข้อ

สกุล Cyanotis D.Don มีประมาณ 50 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมีประมาณ 6 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kyanos” สีน้ำเงิน และ “otus” หู ตามลักษณะและสีของกลีบดอก

ชื่อพ้อง  Commelina axillaris L.

ชื่ออื่น   กินกุ้งหลวง (เชียงใหม่); ผักปลาบ (ภาคกลาง); ผักปลาบนา (กรุงเทพฯ); หญ้าพอผดเหล็ก (ปราจีนบุรี)

ผักปลาบนา: ใบเรียงสลับในระนาบเดียวหรือเวียนสลับ รูปแถบ ช่อดอกซ่อนอยู่ภายในกาบใบ บานทีละดอก ขอบปากกาบใบมีขนครุย เกสรเพศผู้มีขนเครา อับเรณูสีเหลือง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Hong, D. and R.A. Filipps. (2000). Commelinaceae. In Flora of China Vol. 24: 23.