สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ผักบุ้ง
วันที่ 30 มกราคม 2560

Ipomoea aquatica Forssk.

Convolvulaceae

ไม้เถาล้มลุกขึ้นในน้ำหรือพื้นดิน มีรากตามข้อ ลำต้นกลวง ใบรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาว 3.5–17 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนตัด รูปหัวใจหรือเงี่ยงลูกศร ก้านใบยาว 3–14 ซม. ช่อดอกมี 1–5 ดอก ก้านช่อยาว 1.5–9 ซม. ใบประดับเป็นแผ่นเกล็ดขนาด 1–2 มม. ก้านดอกยาว 1.5–5 ซม. กลีบเลี้ยงเกลี้ยง คู่นอกรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 7–8 มม. ปลายมนมีติ่งแหลม 3 กลีบในรูปไข่ ยาวประมาณ 8 มม. ดอกรูปแตร สีชมพู ม่วงอ่อน โคนด้านในมักมีสีเข้ม หรือดอกสีขาวล้วน ยาว 3.5–5 ซม. รังไข่เกลี้ยง ผลรูปไข่กว้าง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. เมล็ดมีขนสั้น

พบทั่วไปในเขตร้อนทั้งในอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ขึ้นตามที่โล่ง ทุ่งนา แหล่งน้ำ ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร มีความผันแปรสูงทั้งสีลำต้น ใบ และดอก มีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ผักบุ้งแดง ผักบุ้งหนอง ผักบุ้งนา ผักบุ้งไทย และผักบุ้งจีนซึ่งมีดอกสีขาว

ชื่อสามัญ  Swamp morning glory, Water spinach

ชื่ออื่น   กำจร (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); ผักทอดยอด (ภาคกลาง); ผักบุ้ง, ผักบุ้งจีน, ผักบุ้งไทย (ทั่วไป); ผักบุ้งหนอง (กาฬสินธ์); โหนเดาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ผักบุ้ง: ใบรูปใบหอก ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนตัด รูปหัวใจหรือเงี่ยงลูกศร ดอกสีม่วงอ่อน โคนด้านในมีสีเข้ม หรือดอกสีขาวล้วน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Fang, R. and G. Staples. (1995). Convolvulaceae. In Flora of China Vol. 16: 308–380.

Staples, G. (2010). Convolvulaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(3): 403–427.