สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ผักตีนกวาง
วันที่ 30 มกราคม 2560

Helminthostachys zeylanica (L.) Hook.

Ophioglossaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดิน เหง้าทอดเลื้อย ใบโผล่ขึ้นมาปีละหนึ่งใบ มีใบประกอบย่อย 3 ใบ ก้านใบ (phyllomophore) ยาว 15–55 ซม. ใบประกอบย่อย (trophophyll) มีก้านสั้น ๆ แต่ละใบมีใบย่อยที่ปลายและด้านข้าง 1–2 คู่ แกนกลางมีครีบคล้ายปีก แผ่นใบและก้านใบสีเขียวถึงม่วง ยาว 20–40 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ยาว 10–20 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนเรียวสอบเป็นครีบ ไร้ก้าน ขอบเรียบจักเว้า แผ่นใบฉ่ำน้ำ ใบสร้างสปอร์คล้ายช่อเชิงลด ยาว 10–20 ซม. ก้านยาว 4–15 ซม. กลุ่มอับสปอร์ออกเป็นกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ อับสปอร์ไร้ก้าน

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน ไห่หนาน ไต้หวัน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบมากทางภาคใต้ ขึ้นตามที่โล่ง ทุ่งหญ้า ชายป่า ความสูงระดับต่ำ ๆ หรือพบเป็นไม้ประดับ ใบอ่อนนำมาลวกหรือต้มกับกะทิกินกับน้ำพริก รากมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

สกุล Helminthostachys Kaulf. มีเพียงชนิดเดียว ต่างจากสกุลอื่นในวงศ์ที่ใบสร้างสปอร์คล้ายช่อเชิงลด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “helminthos” หนอน และ “stachys” ช่อดอกเชิงลด ตามลักษณะใบสร้างสปอร์

ชื่อพ้อง  Osmunda zeylanica L.

ชื่ออื่น   กูดจ๊อง, กูดซัง, กูดตีนกวาง, กูดตีนฮุ้ง (ภาคเหนือ); ตีนนกยูง (จันทบุรี, ภาคใต้); ตูยุลางิ (มาเลย์-นราธิวาส); ผักตีนกวาง (ภาคเหนือ); ผักนกยูง (นครราชสีมา)

ผักตีนกวาง: เฟินมีใบประกอบย่อย 3 ใบ แต่ละใบมีใบย่อยที่ปลายและด้านข้าง 1–2 คู่ ใบสร้างสปอร์คล้ายช่อเชิงลด (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)

เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M., and K. Iwatsuki. (1979). Ophioglossaceae. In Flora of Thailand 3(1): 38.

Xianchun, Z., Q. Liu and N. Sahashi. (2013). Ophioglossaceae. In Flora of China Vol. 2–3: 77.