ไม้เถาล้มลุก แยกเพศต่างต้น เกล็ดประดับยาว 2–3 มม. มือจับออกตามซอกใบ ไม่แยกแขนง ใบเรียงเวียน รูปไข่กว้าง จักตื้น ๆ หรือแฉกลึก 3–5 แฉก ยาว 5–10 ซม. โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อย ปลายจักมีติ่ง แผ่นใบสากด้านล่าง โคนมีต่อมขนาดเล็ก ก้านใบยาว 1–2.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นแบบช่อกระจะสั้น ๆ มี 2–3 ดอก ก้านดอกยาว 2–5 ซม. ฐานดอกรูปถ้วย ยาว 6–8 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 3 มม. ดอกรูประฆังกว้าง สีขาว ยาว 1.5–3 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดบนปากฐานดอก ที่จุดติดมีขนหนาแน่น อับเรณูชิดกันเป็นก้อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. เป็นหมันในดอกเพศเมีย จานฐานดอกรูปถ้วย รังไข่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. ยอดเกสรแยก 3 แฉก ยาว 5–7 มม. ปลายจัก 2 พู ผลสดมีหลายเมล็ด รูปขอบขนาน ยาว 2.5–6 ซม. สุกสีแดงสด เมล็ดรูปแบน ยาว 6–7 มม.
พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ขึ้นเป็นวัชพืชในหลายประเทศในเขตร้อน ส่วนมากพบถึงความสูงประมาณ 400 เมตร ยอดอ่อนและผลอ่อนใช้ปรุงอาหาร ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง
สกุล Coccinia Wight & Arn. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Cucurbitoideae มีประมาณ 30 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kokkinos” สีแดง ตามลักษณะผลสุกสีแดง
|
ชื่อพ้อง Bryonia grandis L., Coccinia indica Wight & Arn.
|
|
ชื่อสามัญ Baby watermelon, Gentleman’s toes, Ivy gourd, Little gourd, Scarlet-fruited gourd
|
ชื่ออื่น แคเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ผักแคบ (ภาคเหนือ); ผักตำลึง (ภาคกลาง)
|
|
ผักตำลึง: ใบจักตื้น ๆ หรือแฉกลึก 3–5 แฉก ดอกรูประฆังกว้าง ดอกเพศผู้อับเรณูชิดกันเป็นก้อน ดอกเพศเมีย ยอดเกสรแยก 3 แฉก ผลสุกสีแดงสด (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, Brigitta E.E. Duyfjes)
|
|