| | Ceratopteris thalictroides (L.) Brongn. |
|
เฟินขึ้นบนดินที่ชื้นแฉะหรือลอยน้ำ เหง้าสั้นตั้งขึ้น มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม ใบประกอบ 2–3 ชั้น เรียงเวียนชิดกัน ก้านใบยาว 10–40 ซม. แกนกลางใบประกอบเป็นร่องด้านบน แผ่นใบรูปสามเหลี่ยมหรือรูปขอบขนาน ใบย่อยแฉกลึก ขอบเรียบ เกลี้ยง มี 2 แบบ ใบไม่สร้างสปอร์ยาวไม่เกิน 10 ซม. หรือยาวได้ถึง 35 ซม. ใบสร้างสปอร์ส่วนมากขนาดใหญ่และยาวกว่า ยาว 20–60 ซม. แฉกลึกรูปแถบ กว้างประมาณ 2 มม. ยาว 1.5–5 ซม. ปลายแหลม ขอบบางโปร่งแสง ม้วนลง กลุ่มอับสปอร์ออกเดี่ยว ๆ เรียงแน่นบนเส้นใบ มีก้านสั้น ๆ
พบทั่วไปในเขตร้อนทั้งในอเมริกา แอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ส่วนมากขึ้นในที่มีน้ำท่วมขังหรือทุ่งนา ใบกินเป็นผักสด ทั้งต้นใช้ประคบแผลสดเพื่อให้เลือดหยุดไหล คั้นน้ำดื่มเป็นยาบำรุง ขับเสมหะ
สกุล Ceratopteris Brongn. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Parkerioideae มี 5–7 ชนิด ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “keratos” เขา และ “pteris” เฟิน ตามลักษณะการแตกของใบ
| ชื่อพ้อง Acrostichum thalictroides L.
| | ชื่อสามัญ Floating staghorn fern, Pod fern, Swamp fern, Water horn fern, Water sprite
| ชื่ออื่น ขาเขียดน้ำเค็ม (ตรัง); ผักกูดน้ำ (กรุงเทพฯ); ผักขาเขียด (ภาคกลาง); ผักหนวดปลาดุก (จันทบุรี); มันปู (นครราชสีมา)
| | ผักขาเขียด: ใบประกอบ 2–3 ชั้น เรียงเวียนชิดกัน ใบสร้างสปอร์ แฉกลึกรูปแถบ กลุ่มอับสปอร์เรียงแน่นบนเส้นใบ (ภาพ: โสมนัสสา แสงฤทธิ์)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Lin, Y. and S. Masuyama. (2013). Pteridaceae (Ceratopteris). In Flora of China Vol. 2–3: 180. |
| Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/ |
| Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1989). Parkeriaceae. In Flora of Thailand Vol. 3(2): 184–185. |