สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ผักกูดหม่อน
วันที่ 30 มกราคม 2560

Cyclosorus interruptus (Willd.) H.Ito

Thelypteridaceae

เฟินขึ้นบนดิน เหง้าเกาะเลื้อย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. เกล็ดรูปสามเหลี่ยมสีน้ำตาล ยาวประมาณ 2.5 มม. ร่วงเร็ว ใบประกอบยาว 22–60 ซม. ก้านใบยาว 22–70 ซม. ใบย่อย 14–25 คู่ รูปแถบ ยาว 6–15 ซม. หรือยาวได้ถึง 20 ซม. เรียงห่างกัน ปลายเรียวแหลม โคนกลม ไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ๆ ขอบจักเป็นพูลึกไม่เกินกึ่งหนึ่ง รูปขอบขนาน ปลายมน มีติ่งแหลม เส้นกลางใบส่วนมากมีขนและเกล็ดประปราย แผ่นใบมีขนหรือต่อมตามเส้นใบ กลุ่มของอับสปอร์เกิดบริเวณขอบใบย่อย เรียงชิดกันเป็นแถว

พบในเขตร้อน ในไทยพบทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้ ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ตามที่โล่งที่น้ำท่วมขัง และขอบป่าพรุ ความสูงระดับต่ำ ๆ

ชื่อพ้อง  Pteris interrupta Willd., Thelypteris interrupta (Willd.) K.Iwats.

ชื่ออื่น   กูด (ภาคใต้); กูดยาง, กูดหม่อน (ภาคเหนือ); ปากู (มาเลย์-ภาคใต้); ผักกูดช้าง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); ผักกูดหม่อน (ภาคเหนือ)

ผักกูดหม่อน: ขึ้นตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ใบย่อยเรียงห่างกัน ไร้ก้าน ขอบจักเป็นพู กลุ่มอับสปอร์เรียงตามขอบจัก เรียงชิดกันเป็นแถว (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Lin, Y., L. Zhongyang and K. Iwatsuki. (2013). Thelypteridaceae (Cyclosorus). In Flora of China Vol. 2–3: 374.

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1988). Thelypteridaceae (Thelypteris). In Flora of Thailand 3(2): 400.