สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ปอเส็ง
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Pentapetes phoenicea L.

Malvaceae

ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูง 1–1.5 ม. แตกกิ่งสั้น ๆ ใบเรียงเวียน รูปใบหอกแคบ จักเป็นพูตื้น ๆ หรือรูปหัวลูกศร ยาว 3–14 ซม. แผ่นใบมีขนประปรายทั้งสองด้าน ขอบใบจักฟันเลื่อยค่อนข้างลึก เกือบไร้ก้านหรือมีก้านยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ๆ มี 1–2 ดอก ก้านช่อสั้น ก้านดอกยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดทน โคนเชื่อมติดกัน กลีบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 5–7 มม. ปลายแหลมคล้ายหนามหรือตะขอ มีขนหยาบ ดอกรูปถ้วยกว้าง สีชมพูหรือแดง โคนด้านในมีสีขาว มี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบรูปไข่กลับ ปลายกลม ยาว 1–2 ซม. เกสรเพศผู้ 15 อัน ติดกันเป็น 5 กลุ่มสั้น ๆ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 5 อัน ติดระหว่างกลุ่ม รูปแถบ สั้นกว่าหรือยาวเท่า ๆ กับกลีบดอก รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ หรือยาวกว่าแผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเล็กน้อย ติดทน ผลแห้งแตกตามยาว กลม จัก 5 พู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 ซม. มีขนหยาบกระจาย มีประมาณ 10 เมล็ด

พบในเอเชียเขตร้อนถึงตอนบนของออสเตรเลีย ขึ้นเป็นวัชพืชในหลายประเทศ ในไทยพบทุกภาคตามนาข้าว ที่โล่งที่ชื้นแฉะ ความสูงไม่เกิน 100 เมตร หรือเป็นไม้ประดับ รากแก้ปวดท้อง เปลือกเหนียวใช้ทำเชือก

สกุล Pentapetes L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Dombeyoideae เป็นสกุลที่มีชนิดเดียว ชื่อสกุลเป็นภาษากรีก หมายถึงดอกไม้ที่มี 5 กลีบ

ชื่ออื่น   บานเที่ยง (ภาคกลาง); ปอเส้ง (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); เส้ง (ภาคใต้); เส้งใบเล็ก (ชัยนาท); เส้งใหญ่ (อ่างทอง)

ปอเส็ง: ขึ้นเป็นวัชพืชตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ช่อดอกมี 1–2 ดอก ดอกรูปถ้วยกว้าง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 5 อัน รูปแถบ ผลรูปกลม จัก 5 พู มีขนหยาบกระจาย กลีบเลี้ยงติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 595–597.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 326.