สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ปอเลียงฝ้าย
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Eriolaena candollei Wall.

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. หูใบรูปแถบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ยาว 6–16 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว ขอบจักฟันเลื่อยหรือจักมน แผ่นใบมีขนรูปดาวละเอียดประปรายด้านบน ด้านล่างหนาแน่น ก้านใบยาว 3–12 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ยาวได้ถึง 20 ซม. ริ้วประดับมี 3–5 อัน จักชายครุยคล้ายขนนก ยาว 1.3–3 ซม. มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 1.5–2.5 ซม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ดอกสีครีมเหลือง มี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 1.5–2.5 ซม. โคนเรียวแคบเป็นก้านกลีบหนา โค้งงอกลับ ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกลุ่มเดียวเป็นหลอด เกสรเพศผู้จำนวนมาก หุ้มเกสรเพศเมีย ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.5–2.5 ซม. ช่วงล่างมีขน ยอดเกสรแยกเป็น 7–10 แฉก บิดพับงอ ผลแห้งแตกเป็น 7–10 ส่วน ปลายแหลม ยาว 4–6 ซม. ก้านหนา ยาว 1–3 ซม. เมล็ดจำนวนมาก ปลายมีปีก ยาว 1–2 ซม. รวมปีก

พบที่อินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร

สกุล Eriolaena DC. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Dombeyoideae มีประมาณ 17 ชนิด พบเฉพาะในเอเชีย ในไทยมี 1–2 ชนิด อาจมีชนิด E. glabrescens DC. ที่ใบค่อนข้างเกลี้ยง ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “erion” ขนแบบขนแกะ และ “chlaena” หรือ “laina” สิ่งปกคลุม หมายถึงกลีบเลี้ยงมีปกคลุมขนหนาแน่น

ชื่อสามัญ  Salmon wood

ชื่ออื่น   ซ้อเสี้ยน, ปอเลียง, ปอเลียงฝ้าย, ยาบเลียง (ภาคเหนือ); เลียง (ภาคกลาง); เลียงขาว, เลียงน้อย, เลียงฝ้าย (ภาคเหนือ); สักกะวัง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ปอเลียงฝ้าย: ใบรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ กลีบดอกโคนเรียวแคบเป็นก้านกลีบหนา โค้งงอกลับ ก้านเกสรเพศผู้ เชื่อมติดกลุ่มเดียว ริ้วประดับจักชายครุย ยอดเกสรเพศเมียแยกแฉก บิดพับงอ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 552–555.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 322–325.