สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ปอหยุมยู่
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Triumfetta pilosa Roth

Malvaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–2 ม. มีขนรูปดาวและขนยาวสีน้ำตาลตามกิ่ง แผ่นใบทั้งสองด้าน และช่อดอก ใบเรียงเวียน รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ไม่จักเป็นพู ยาว 3–14 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น เส้นข้างโค้งเรียวยาวเลยกึ่งกลางใบ ก้านใบยาวได้ถึง 5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ๆ ออกตามซอกใบ ก้านช่อยาว 5–8 มม. ก้านดอกยาว 3–5 มม. ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 0.6–1.2 ซม. ปลายรูปคุ่ม มีรยางค์ยาวประมาณ 1 มม. กลีบดอกสั้นหรือยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง โคนด้านในมีต่อม ก้านชูเกสรร่วมสั้น เกสรเพศผู้มีประมาณ 10 อัน ก้านชูอับเรณูยาวเท่า ๆ กลีบดอก รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียสั้นกว่าเกสรเพศผู้ ผลแห้งแตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. มีขนหนามยาว 6–8 มม. ปลายเป็นตะขอ มีขนยาวกระจาย

พบในแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ถึงออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเสื่อมโทรม ชายป่า ที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร

สกุล Triumfetta L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Tiliaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Grewioideae มีประมาณ 150 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 5–6 ชนิด ชนิด T. annua L. หนามที่ผลไม่มีขน ส่วนอีก 3 ชนิด ใบจักเป็นพู และอาจมีชนิด T. cana Blume ก้านดอกสั้น ผลมีหนามปลายไม่เป็นตะขอ ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาลี Giovanni Battista Trionfétti (1656–1708)

ชื่ออื่น   ขี้อ้น, ขี้อ้นน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ปอหยุมยู่, ป่าช้าหมอง, ผมยุ่ง (ภาคเหนือ); ไม้ขาว, หญ้าตัวตุ่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); หญ้าผมยี, หญ้าผมยุ่ง (ภาคเหนือ); หมากเขือขน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); หางไก่, อ้นกะเหรี่ยง (ภาคเหนือ)

ปอหยุมยู่: ผลมีขนหนาม ปลายเป็นตะขอ มีขนยาวกระจาย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1993). Tiliaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1): 46.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Tiliaceae. In Flora of China Vol. 12: 259.