สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ปอพราน
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Colona auriculata (Desf.) Craib

Malvaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ประมาณ 2 ม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นตามแผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ก้านดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก และผล หูใบรูปรี ติดทน ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 7–20 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนเบี้ยว เว้าเป็นติ่ง ขอบจักฟันเลื่อยซ้อน เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบยาว 2–3 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ตามซอกใบ ยาว 2–3 ซม. แต่ละช่อกระจุกมี 1–4 ดอก ก้านดอกยาวได้ถึง 1 ซม. ในผล กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายแหลม ยาวกว่ากลีบดอกเล็กน้อย ดอกสีเหลืองสดมีจุดสีแดงแต้มทั่วไป มี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 5 มม. โคนมีต่อม เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกัน รังไข่มีขนหนาแน่น ผลแห้งแตก รูปรีกว้างเกือบกลม มี 5 สันเป็นครีบ ยาว 2–2.5 ซม.

พบที่ภูมิภาคอินโดจีน และชวา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูงถึงประมาณ 200 เมตร

สกุล Colona Cav. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Tiliaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Grewioideae มีประมาณ 30 ชนิด ในไทยมี 7 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักสำรวจชาวอิตาลี Christopher Columbus (1446–1506) หรือ Cristóbal Colón ในภาษาสเปน

ชื่อพ้อง  Diplophractum auriculatum Desf.

ชื่ออื่น   ขี้หมาแห้ง (สุโขทัย); ปอขี้ตุ่น (อุตรดิตถ์); ปอที (อุบลราชธานี); ปอปาน (นครราชสีมา); ปอพราน (จันทบุรี, นครราชสีมา); ปอพาน (เชียงใหม่)

ปอพราน: ใบเรียงสลับระนาบเดียว หูใบติดทน โคนเบี้ยว เว้าเป็นติ่ง ช่อดอกออกสั้น ๆ ตามซอกใบ กลีบเลี้ยงยาวกว่ากลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกัน ผลรูปรีกว้างเกือบกลม มี 5 ครีบ มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1993). Tiliaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1): 67–68.