สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ปอขาว
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Sterculia pexa Pierre

Malvaceae

ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 20 ม. มีขนหนาแน่นตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก และผล หูใบรูปใบหอก ใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาว 10–30 ซม. ใบย่อยมี 6–9 ใบ รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ยาว 8–25 ซม. ก้านใบย่อยยาว 1–2 มม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาว 20–30 ซม. ก้านดอกสั้นมาก หลอดกลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 4–5 มม. กลีบยาวเท่า ๆ หลอดกลีบเลี้ยง ปลายเชื่อมติดกันด้วยขน เกสรเพศผู้ 15 อัน ไร้ก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรจัก 5 พู มี 3–5 ผลย่อย รูปคล้ายไต เปลือกหนา ยาว 4–5 ซม. แก่สีแดง มีประมาณ 20 เมล็ด

พบที่ลาว และเวียดนาม ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูง 100–900 เมตร คล้ายสำโรง S. foetida L. ที่ใบเป็นใบประกอบรูปฝ่ามือ แต่ใบแก่และผลเกลี้ยง กลีบเลี้ยงบานออก เมล็ดให้น้ำมันใช้ปรุงอาหารและจุดไฟ

ชื่ออื่น   ฉ่อ, ชอ, ชะกอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ปอขาว (ภาคกลาง); ปอตับแตก (นครราขสีมา); ปอทง, ปอบ้าน, ปอเผือก (ภาคเหนือ)

ปอขาว: ไม้ต้นผลัดใบ ใบรูปฝ่ามือ มี 3–5 ผลย่อย รูปไต เปลือกหนา มีขนหนาแน่น (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 644–646.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 305.