ไม้ต้น สูง 10–20 ม. หรืออาจสูงได้ถึง 35 ม. น้ำยางสีขาว แยกเพศต่างต้น มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่างตามเส้นแขนงใบ ก้านใบ และใบประดับ หูใบรูปไข่ ยาว 0.5–1.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปไข่ รูปรี หรือคล้ายรูปหัวใจ ยาว 5–20 ซม. เรียบหรือจัก 3–5 พู ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนมีขนสาก เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 1–15 ซม. ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด ยาว 3–10 ซม. ก้านช่อยาว 1–2.5 ซม. กลีบรวมรูปไข่ ยาว 1.5–2 มม. เกสรเพศผู้ยาว 3–3.5 มม. ใบประดับรูปลิ่มแคบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ๆ ก้านช่อสั้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.2 ซม. วงกลีบรวมยาวประมาณ 1 มม. ปลายแยกเป็น 4 แฉกตื้น ๆ เชื่อมติดก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมีย 2 อัน รูปแถบ ยาว 0.7–1 ซม. ลดรูป 1 อัน มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับรูปกระบอง ยาว 1–1.5 มม. ช่อผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 ซม. มีขนสั้นนุ่มและขนเครา ผลย่อยฉ่ำ ยาว 2–2.5 มม. สุกสีส้มอมแดง
พบที่อินเดีย พม่า จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาค บางครั้งเป็นวัชพืช เป็นไม้เศรษฐกิจในหลายประเทศ เปลือกให้เส้นใยใช้ทำเชือก กระดาษ และทอผ้า ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง
สกุล Broussonetia L’Hér. ex Vent. มี 8 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน มีชนิดเดียวในมาดากัสการ์ ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ สะแล B. kurzii (Hook.f.) Corner เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเรียงสลับระนาบเดียว แผ่นใบไม่สาก ยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ช่อดอกใช้ปรุงเป็นอาหาร ชื่อสกุลตั้งตามนายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Pierre Marie Auguste Broussonet (1761–1807)
|
ชื่อพ้อง Morus papyrifera L., Papyrius papyrifera (L.) Kuntze
|
|
ชื่อสามัญ Paper mulberry
|
ชื่ออื่น ฉำฉา (นครสวรรค์); ชะดะโค (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร); ชำสา (นครสวรรค์); เซงซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ปอกระสา (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); ปอฝ้าย (ภาคใต้); สายแล (เงี้ยว-ภาคเหนือ); ส่าแหล่เจ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); หมอมี, หมูพี (ภาคกลาง)
|
|
ปอกระสา: แผ่นใบด้านบนมีขนสาก ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ๆ ก้านช่อสั้น ผลย่อยฉ่ำ สีส้มอมแดง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)
|
|