สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ประดู่
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Pterocarpus macrocarpus Kurz

Fabaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งและใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยง และรังไข่ หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบประกอบเรียงเวียน ยาว 8–25 ซม. ใบย่อยมี 5–13 ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ยาว 2.5–11 ซม. ปลายแหลมยาว ก้านใบย่อยยาว 3–8 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะมักแยกแขนง ส่วนมากออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง 15 ซม. ใบประดับย่อยรูปลิ่มแคบ ติดที่โคนกลีบเลี้ยง ก้านดอกยาว 0.8–1.5 ซม. มีข้อ หลอดกลีบเลี้ยงยาว 4–6 มม. ปลายจักตื้น ๆ 5 แฉก คล้ายรูปปากเปิด คู่บนเชื่อมติดกัน ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลือง ยาว 0.7–1.5 ซม. รวมก้านกลีบ กลีบกลางรูปไข่กว้าง ปลายเว้าตื้น กลีบปีกและกลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันกลุ่มเดียวหรือสองกลุ่ม อับเรณูติดไหวได้ รังไข่มี 2–6 ช่อง มีก้าน ก้านเกสรเพศเมียยาว 6–9 มม. ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแห้งไม่แตกมีปีกรอบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–9 ซม. ก้านผลยาว 1–1.5 ซม. มีเมล็ดเดียว รูปคล้ายไต ยาว 6–9 มม. ขั้วเมล็ดขนาดเล็ก

พบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

สกุล Pterocarpus Jacq. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Faboideae เผ่า Dalbergieae มี 35–40 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา และเอเชีย แต่ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทย มี 2 ชนิด อีกชนิดคือประดู่บ้านหรืออังสนา P. indicus Willd. ใบรูปรีหรือรูปไข่ แผ่นใบเกือบเกลี้ยง ผลเส้นผ่านศูนย์กลางสั้นกว่าประดู่ ส่วนมากพบเป็นไม้สองข้างถนน และมีชนิดที่นำเข้ามาปลูกที่มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีอีกชนิดคือ รักตจันทน์ P. santalinus L.f. ปลายใบเว้า พืชถิ่นเดียวของอินเดีย เป็นพืชในบัญชีที่ 2 ของ CITES มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “pteron” ปีก และ “carpos” ผล ตามลักษณะผลมีปีกรอบ

ชื่อสามัญ  Burmese rosewood

ชื่ออื่น   จิต๊อก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); ฉะนอง (เชียงใหม่); ดู่, ดู่ป่า (ภาคเหนือ); ตะเลอ, เตอะเลอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ประดู่, ประดู่ป่า (ภาคกลาง); ประดู่เสน (ราชบุรี, สระบุรี)

ประดู่: ช่อดอกแบบช่อกระจะมักแยกแขนง ส่วนมากออกตามซอกใบ ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ผลแห้งไม่แตกมีปีกรอบ (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี)

เอกสารอ้างอิง

Niyomdham, C., P.H. Hô., P. dy Phon and J.E. Vidal. (1997). Leguminosae-Papilionoideae, Dalbergieae. Flore du Cambodge, Laos et du Vietnam 29: 154–160.