สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



บุหรัน
วันที่ 15 ธันวาคม 2559

Merremia umbellata (L.) Hallier f.

Convolvulaceae

ไม้เถาล้มลุก ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 3.5–14.5 ซม. ปลายใบเว้าตื้น โคนใบรูปหัวใจหรือคล้ายเงี่ยงลูกศร แผ่นใบมีขนละเอียดโดยเฉพาะด้านล่าง ก้านใบยาว 1–6 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อซี่ร่ม ก้านช่อยาว 0.5–12 ซม. ก้านดอกยาว 1–3 ซม. มีขนละเอียด ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงคู่นอกรูปไข่กลับ ยาว 5–8 มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม 3 กลีบในเรียวแคบและยาวกว่าเล็กน้อย ขอบบาง ดอกรูปแตร สีเหลืองหรือขาวครีม ยาว 2.5–4 ซม. มีแถบขนด้านนอกช่วงปลายกลีบ อับเรณูไม่บิดเวียน รังไข่เกลี้ยงหรือปลายมีขน ผลรูปไข่ ยาว 0.9–1.2 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม เมล็ดรูปไข่ ยาว 4–5 มม. มีขนยาวหนาแน่น (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ จิงจ้อเหลือง, สกุล)

พบที่อเมริกาเขตร้อน แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร ใบใช้ประคบแผลไฟไหม้ ลดการเจ็บปวด

ชื่อพ้อง  Convolvulus umbellatus L.

ชื่อสามัญ  Hogvine

ชื่ออื่น   จิงจ้อขาว (ชลบุรี); เถาดอกบานตูม (ตราด); นอไวไพ้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); บุหรัน, ย่านขน (นครศรีธรรมราช); อกาคอแล (มาเลย์-นราธิวาส); เอน (สุราษฎร์ธานี)

บุหรัน: โคนใบรูปหัวใจหรือคล้ายเงี่ยงลูกศร ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อซี่ร่ม ผลรูปไข่ ปลายเป็นติ่งแหลม เมล็ดมีขนยาวหนาแน่น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Staples, G. (2010). Convolvulaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(3): 444–445.