สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



บุกฤาษี
วันที่ 15 ธันวาคม 2559

Tacca palmata Blume

Dioscoreaceae

ไม้ล้มลุก มีเหง้า ใบรูปฝ่ามือ มี 5–7 แฉก แฉกรูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ปลายแหลม ยาว 10–20 ซม. โคนเรียวสอบจรดก้านใบ ก้านใบยาว 50–60 ซม. ช่อดอกมี 1–2 ช่อ ยาว 50–60 ซม. แต่ละช่อมีได้ถึง 30 ดอก ใบประดับมี 2 คู่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก คู่นอกรูปไข่ ยาว 3–5 มม. คู่ในรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ยาว 2–6 ซม. ไม่มีกลีบประดับรูปเส้นด้าย ดอกสีเขียวอมม่วงอ่อน ๆ กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง วงนอกรูปไข่ ยาว 2–6 มม. วงในรูปรี ยาว 3–5 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ปลายแผ่เป็นแผ่น ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรแยกเป็น 3 แฉก ผลสดมีหลายเมล็ด รูปกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. สุกสีแดง เมล็ดคล้ายรูปพีระมิด ยาว 3–5 มม.(ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ว่านค้างคาว, สกุล)

พบที่ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบกระจายทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร มีสรรพคุณเป็นยาสมานและบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องเสีย บิด

ชื่ออื่น   คดดิน (นครศรีธรรมราช); บุกฤๅษี (ตราด)

บุกฤๅษี: ใบรูปฝ่ามือ 5–7 แฉก ใบประดับคล้ายใบ 2 คู่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ดอกสีเขียวอมม่วง ไม่มีกลีบประดับรูปเส้นด้าย ผลสุกสีแดง (ภาพ: Alan Mauric, ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1993). Taccaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1): 7–9.