Index to botanical names
Fabaceae
ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 60 ม. โคนมีพูพอนขนาดใหญ่ หูใบขนาดเล็ก รูปรีกว้าง ใบประกอบ ส่วนมากมีใบย่อย 5–9 ใบ เรียงเกือบตรงข้าม รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5–13 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหนาแน่น มีขนละเอียด ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 1–2.5 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็ก ด้านนอกมีขน ดอกสีขาว มี 5 กลีบ รูปรี ยาวประมาณ 2.5 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบดอก อับเรณูรูปหัวใจ รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ไร้ก้าน ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเป็นตุ่ม ฝักรูปใบหอก โคนบิด ยาว 12–13 ซม. ขอบมีปีกบาง ๆ มีเมล็ดเดียว รูปขอบขนาน เบี้ยว แบน ยาวประมาณ 3 ซม.พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทางภาคใต้ที่ตรัง ยะลา นราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าพรุ ความสูงถึงประมาณ 700 เมตรสกุล Koompassia Maingay ex Benth. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Caesalpinioideae มีี 2 ชนิด พบในภูมิภาคมาเลเซีย และภาคใต้ตอนล่างของไทย อีกชนิดคือ ยวน K. excelsa (Becc.) Taub. ที่สูงได้ถึง 80 เมตร ใบและฝักขนาดเล็กกว่า รังไข่เกือบเกลี้ยง เปลือกเรียบกว่า ชื่อสกุลมาจากชื่อพื้นเมืองในภาษามาเลย์ “kempas”
ชื่อสามัญ Kempas
ชื่ออื่น ทองบึ้ง (ภูเก็ต); มะกู๊ปะ (มาเลย์-นราธิวาส); สีไฟ, อีแปะ (พัทลุง)
ทองบึ้ง: ฝักรูปใบหอก โคนบิด ขอบมีปีกบาง ๆ มีเมล็ดเดียว (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 83–85.