สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ตะแบกนา
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia floribunda Jack

Lythraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. เปลือกบาง ใบเรียงตรงข้าม ส่วนมากรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 6–20 ซม. แผ่นใบค่อนข้างเกลี้ยง ก้านใบยาว 2–7 มม. ช่อดอกยาว 20–50 ซม. มีขนกระจุกสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านดอกเทียมยาว 2–4 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 5–6 มม. มี 10–12 สัน หรือไม่ชัดเจน มีขนกระจุกสีน้ำตาลหนาแน่น ปลายแยกเป็น 6 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว 3–4 มม. มีหรือไม่มีติ่งระหว่างกลีบ ดอกสีชมพูหรือม่วง สีขาวซีดในดอกแก่ มี 6 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 0.8–1.5 ซม. ก้านกลีบยาว 2–3 มม. เกสรเพศผู้วงนอก 6–7 อัน รังไข่มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ผลรูปรี ยาว 1.2–1.8 ซม. มีขนประปราย หนาแน่นช่วงปลายผล

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และชายป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 850 เมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ และสองข้างถนน

ชื่อสามัญ  Thai crape myrtle

ชื่ออื่น   กระแบก (ภาคใต้); ตราแบกปรี้ (เขมร); ตะแบกไข่ (ราชบุรี, ตราด); ตะแบกนา (ภาคกลาง); บางอตะมะกอ, บางอยามู (มาเลย์); เปื๋อยด้อง, เปื๋อยนา, เปื๋อยหางค่าง (ภาคเหนือ)

ตะแบกนา: ดอกสีชมพูหรือม่วง สีขาวซีดในดอกแก่ หลอดกลีบเลี้ยง มี 10–12 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

de Wilde, W.J.J.O., B.E.E. Duyfjes and P. Phonsena. (2014). Lythraceae. In Flora of Thailand Vol. 11(4): 553–580.

Furtado, C.X. (1969). A revision of Lagerstroemia L. (Lythraceae). Gardens’ Bulletin Singapore 24: 185–335.

Qin, H., S.A. Graham and M.G. Gilbert. (2007). Lythraceae (Lagerstroemia). In Flora of China Vol. 13: 277–281.