สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ตะเคียนหนู
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Anogeissus acuminata (Roxb. ex DC.) Wall. ex Guill., Perr. & A.Rich.

Combretaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน ก้านดอก และผล ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 3.5–8 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนยาว เส้นแขนงใบข้างละ 5–7 เส้น ก้านใบยาว 2–6 มม. ช่อดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.7 ซม. ก้านช่อยาว 0.6–2 ซม. ใบประดับมี 1–2 คู่ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 3–5 มม. ก้านดอกยาว 4–6 มม. ใบประดับย่อยรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1–2 มม. หลอดกลีบยาวประมาณ 1 มม. โคนมีขน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมตื้น ๆ ก้านชูอับเรณูยาว 3–4 มม. รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลย่อยกว้าง 4–7 มม. ยาว 4 มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 6 มม. รวมจะงอย

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง มักขึ้นบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 750 เมตร ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ และเชื้อแบคทีเรีย

ชื่ออื่น   ขี้หมากเปียก, ตะเคียนหนู (นครราชสีมา); เบน (พิจิตร, ประจวบคีรีขันธ์); เปอเยอ, สะเร้า, ส่าเราะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); หมากเปียก (นครราชสีมา); เหว, เหียว (ภาคเหนือ); แหว (ภาคใต้); เอ็นมอญ (เลย); เอ็นลื่น (นครศรีธรรมราช)

ตะเคียนหนู: ช่อดอกทรงกลม ออกตามซอกใบ ก้านดอกมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียง 2 วง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เอกสารอ้างอิง

Chen, J. and N.J. Turland. (2007). Combretaceae. In Flora of China Vol. 13: 314.

Scott, A.J. (1979). A revision of Anogeissus (Combretaceae). Kew Bulletin 33: 555–566.