สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ดู่หิน
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Dimorphocalyx muricatus (Hook.f.) Airy Shaw

Euphorbiaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. แยกเพศต่างต้น หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 4 มม. ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว 15–24 ซม. ขอบใบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ มีต่อมระหว่างจัก ก้านใบยาว 2.5–3.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านดอกยาว 0.8–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาวประมาณ 1 ซม. มีขน กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 8 มม. เกสรเพศผู้ 14–22 อัน เรียง 2 วง ก้านชูอับเรณูยาว 2–5 มม. ช่อดอกเพศเมียสั้น ก้านดอกยาว 0.7–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปรี ยาวประมาณ 3 มม. ติดทน ไม่ขยายในผล กลีบดอกรูปรี ยาวประมาณ 4 มม. รังไข่มีตุ่ม ก้านเกสรเพศเมียหนา ยาวประมาณ 3 มม. ยอดเกสรสั้น ๆ 3 อัน ปลายแยกเป็น 2 แฉก ติดทน ผลแห้งแตก กลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2.5–2.8 ซม. ผิวเป็นตุ่ม มีประมาณ 3 เมล็ด รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 8 มม.

พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว และสุมาตรา ในไทยพบทางภาคใต้ตอนล่างที่นราธิวาส ขึ้นตามสันเขาในป่าดิบชื้น ความสูงประมาณ 500 เมตร

สกุล Dimorphocalyx Thwaites มีประมาณ 12 ชนิด พบที่อินเดีย ศรีลังกา ไห่หนาน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิด คือ D. malayanus Hook.f. หรือเข็มใหญ่ พบเฉพาะทางภาคใต้เช่นกัน ขอบใบเรียบ ผลเรียบ และกลีบเลี้ยงขยายในผล ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dis” สองเท่า “morphe” รูปร่าง และ “kalyx” กลีบเลี้ยง ตามลักษณะกลีบเลี้ยงที่มีทั้งขยายและไม่ขยายในผล

ชื่อพ้อง  Ostodes muricatus Hook.f.

ชื่ออื่น   ดู่หิน (ทั่วไป); มูโย๊ะนีกา (มาเลย์-นราธิวาส)

ดู่หิน: ผลรูปกลม ผิวเป็นตุ่ม กลีบเลี้ยงและเกสรเพศเมียติดทน กลีบเลี้ยงไม่ขยายในผล (ภาพ: ราชันย์ ภ่มา)

เอกสารอ้างอิง

Phattarahirankanok, K. and K. Chayamarit. (2005). Euphorbiaceae (Dimorphocalyx). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 229–231.