สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



จามจุรี
วันที่ 13 กันยายน 2559

Albizia saman (Jacq.) Merr.

Fabaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. เรือนยอดแผ่กว้าง ใบประกอบย่อยมี 2–5 คู่ มีต่อมระหว่างก้านใบ ใบย่อยมี 3–10 คู่ รูปรี หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เบี้ยว ยาว 1.5–6 ซม. คู่บนขนาดใหญ่ ปลายมนมีติ่งแหลม โคนกลมหรือตัด แผ่นใบด้านล่างมีขนละเอียด ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ดอกกลางช่อไร้ก้าน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 7–8 กลีบ หลอดกลีบเลี้ยงยาว 8–9 มม. หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1.2 ซม. หลอดเกสรเพศผู้ยาวกว่ากลีบดอกเล็กน้อย ดอกด้านข้างมีก้านสั้น ๆ ขนาดเล็กกว่า กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ หลอดเกสรเพศผู้สั้นกว่ากลีบดอก ฝักรูปแถบ ขอบหนา โค้งเล็กน้อย ยาว 15–20 ซม. ผนังชั้นกลางมีเนื้อนิ่ม มี 15–25 เมล็ด รูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ปันแถ, สกุล)

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ เป็นไม้ประดับให้ร่มเงาในเขตร้อน ในไทยขึ้นกระจายในธรรมชาติตามริมแม่น้ำ และที่ราบลุ่มทุกภาค ต้นใช้เลี้ยงครั่ง ใบใช้ทำปุ๋ย

ชื่อพ้อง  Mimosa saman Jacq., Samanea saman (Jacq.) Merr.

ชื่อสามัญ  Cow tamarind, Rain tree

ชื่ออื่น   ก้ามกราม, ก้ามกุ้ง, ก้ามปู, จามจุรี (ภาคกลาง); ฉำฉา (ภาคเหนือ); ตุ๊ดตู่ (ตาก); ลัง, สารสา, สำสา (ภาคเหนือ); เส่คุ่, เส่ดู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

จามจุรี: เรือนยอดแผ่กว้าง ใบประกอบ 2 ชั้น ใบย่อยเบี้ยว โคนกลมหรือตัด ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Nielsen, I.C. (1985). Leguminosae-Mimosoideae. In Flora of Thailand Vol. 4(2): 202–204.