ปาล์มแตกกอ ลำต้นทอดเลื้อยอยู่ใต้ดิน ส่วนมากมีรากค้ำยัน แยกเพศและมีดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น ใบแบบขนนก เรียงเวียน 7–10 ใบ ยาวได้ถึง 8 ม. ก้านยาวได้ถึง 3 ม. กาบยาวได้ถึง 1 ม. แกนกลางและก้านใบมีหนามติดเป็นกลุ่ม 2–3 อัน ยาวได้ถึง 5 ซม. ใบย่อยจำนวนมาก เรียงสลับ รูปแถบ ยาว 45–90 ซม. ไร้ก้าน มีขนแข็งคล้ายหนามตามขอบใบและเส้นใบด้านบน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ยาว 2.5–5 ม. ก้านช่อยาวได้ถึง 1 ม. ช่อย่อยมี 12–13 ช่อ ใบประดับและใบประดับย่อยเป็นกาบซ้อนกันหนาแน่น ดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศคล้ายกัน ก้านดอกยาว 1–6 ซม. กลีบเลี้ยง 3 กลีบ ยาวประมาณ 2 ซม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 ซม. ปลายแยก 3 แฉก แข็ง เกสรเพศผู้ 22–27 อัน ผลรูปรี ยาว 7–9 ซม. ปลายเป็นจะงอย มีเกล็ดสีน้ำตาลหนาแน่น เนื้อในกะลาสีขาว
พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ยะลา นราธิวาส ขึ้นตามที่ลาดชันหรือสันเขาในป่าดิบชื้น ความสูง 200–800 เมตร ชนเผ่าซาไกใช้ใบมุงหลังคา ทนกว่าใบจาก เนื้อในเมล็ดกินได้คล้ายจาก
สกุล Eugeissona Griff. อยู่วงศ์ย่อย Eugeissoneae มี 6 ชนิด พบที่คาบสมุทรมลายู และบอร์เนียว ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “eu” ดี และ “geisson” หลังคา หมายถึงใบใช้ทำหลังคาได้ดี
|