สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



จันทน์ชะมด
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Mansonia gagei J.R.Drumm. ex Prain

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. หูใบรูปใบหอก ยาว 5–7 มม. ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาว 8–14 ซม. โคนเว้าตื้น เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยเล็กน้อย เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกแยกแขนง ยาวได้ถึง 15 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยงแยกด้านเดียว รูปขอบขนาน ยาวเท่า ๆ กลีบดอก ดอกสีขาว มี 5 กลีบ รูปใบหอกกลับ ยาวประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร ล้อมรอบรังไข่ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 5 อัน ติดระหว่างเกสรเพศผู้และรังไข่ คาร์เพล 5 อัน แยกกัน มีขน ก้านเกสรเพศเมียโค้งออก ยอดเกสรเรียวเป็นตุ่ม ผลมีปีกเดียว แห้งไม่แตก ทรงรี ยาว 1–1.5 ซม. ปีกยาว 2.5–3 ซม. ปลายปีกมน

พบที่อินเดียและพม่า ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลางที่สระบุรี ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งที่เป็นหินปูน ความสูง 100–650 เมตร แก่นมีน้ำมันหอมระเหย ใช้สร้างพระโกศใช้ในงานพระราชพิธี ทำเครื่องใช้ ดอกไม้จันทน์ ธูป และเครื่องหอม

สกุล Mansonia J.R.Drumm. ex Prain เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Helicteroideae มีประมาณ 5 ชนิด พบในแอฟริกาและเอเชีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตาม F. B. Manson นักอนุรักษ์ของการป่าไม้อินเดียในช่วงศตวรรษที่ 20

ชื่อสามัญ  Kalamet

ชื่ออื่น   จันทน์, จันทน์ขาว, , จันทน์พม่า, จันทน์หอม (ทั่วไป)

จันทน์ชะมด: โคนใบเว้าตื้น เบี้ยวเล็กน้อย เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ผลมีปีกเดียว (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 590.