สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



จันดำ
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Diospyros venosa Wall. ex A.DC. var. olivacea (King & Gamble) Ng

Ebenaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ใบรูปรี หรือรูปไข่ ยาว 3.5–7 ซม. ปลายแหลม มน หรือมีติ่งแหลม โคนมน กลม เส้นแขนงใบข้างละ 16–10 เส้น แผ่นใบด้านล่างมีขนประปราย ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกหรือแยกแขนงสั้น ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 1–2 มม. มี 3–4 กลีบ แฉกตื้น ๆ ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ดอกรูปคนโท ยาว 3–5 มม. มี 4 กลีบ แฉกตื้น ๆ เกสรเพศผู้ 6–16 อัน รังไข่ที่ไม่เจริญเกลี้ยง ดอกเพศเมียออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ รังไข่เกลี้ยง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3–6 อัน เกลี้ยง ผลรูปรี ยาว 1–2.5 ซม. ก้านผลยาว 1–3 มม. กลีบเลี้ยงแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง พับงอกลับ เกลี้ยง เอนโดสเปิร์มเรียบ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะเกลือ, สกุล)

พบที่อินเดีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมลายู ชวา สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยส่วนมากพบทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบประปรายทางภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร ส่วน var. venosa แผ่นใบด้านล่างมีขนกำมะหยี่หนาแน่น

ชื่ออื่น   โกพนม (ปราจีนบุรี); จันดำ (ตราด); ดีงู (พัทลุง); ตาดำ (ตราด); นางดำ (สระบุรี); ไม้ดำ (นราธิวาส); ย่างทราย (จันทบุรี); ฮาแรปารง (มาเลย์-นราธิวาส)

จันดำ: ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกหรือแยกแขนงสั้น ๆ ดอกเพศเมียออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ผลรูปรี กลีบเลี้ยงแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง พับงอกลับ (ภาพ: อรุณ สินบำรุง)

เอกสารอ้างอิง

Ng, Francis S.P. (2002). Ebenaceae. In Tree Flora of Sabah and Sarawak Vol. 4: 98–99.

Phengklai, C. (1981). Ebenaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 278–279.