สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



คนทา
วันที่ 17 สิงหาคม 2559

Harrisonia perforata (Blanco) Merr.

Rutaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–2 ม. หูใบเป็นหนาม ยาวประมาณ 1 ซม. ใบประกอบปลายคี่ เรียงเวียน ยาวได้ถึง 20 ซม. แกนกลางมีปีก มีขนสั้นนุ่ม ก้านยาวประมาณ 3 ซม. ใบย่อยมีใบเดียวหรือมีได้ถึง 7 คู่ รูปรี รูปขอบขนาน รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด หรือแกมรูปไข่ ยาว 1–2 ซม. บางครั้งจักเป็นพู ก้านใบสั้นมาก ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือแยกแขนงสั้น ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ ยาวประมาณ 1.5 มม. เชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่ง กลีบดอก 4–5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ยาว 6–9 มม. เกสรเพศผู้ 8–10 อัน ติดที่โคนจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูยาว 0.7–1 ซม. มีแผ่นคล้ายลิ้นจัก 2 พู ยาวประมาณ 2 มม. ขอบมีขน อับเรณูยาว 1.5–4.5 มม. จานฐานดอกรูปถ้วย มี 4–5 คาร์เพล เชื่อมติดกัน เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 5–8 มม. มีขน ผลผนังชั้นในแข็ง กลม แบนเล็กน้อย มักจักเป็นพู เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม.

พบที่หมู่เกาะอันดามัน จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร น้ำคั้นจากเปลือกรากแก้ท้องเสีย และบิด

สกุล Harrisonia R.Br. ex A.Juss. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Simaroubaceae หรือ Cneoraceae มี 11 ชนิด ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักทำสวนชาวอังกฤษ Arnold Harrison หรือ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับไม้ผลชาวอังกฤษ Charles Harrison

ชื่อพ้อง  Paliurus perforatus Blanco

ชื่ออื่น   กะลันทา (ภาคกลาง); โกทา (ภาคตะวันออกฉียงใต้); ขี้ตำตา (เชียงใหม่); คนทา (ภาคกลาง); จี้, จี้หนาม (ภาคเหนือ); มีชี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); สีเตาะ (ภาคเหนือ); สีฟัน, สีฟันคนตาย, สีฟันคนทา (ภาคกลาง); หนามจี้ (ภาคเหนือ)

คนทา: ใบประกอบปลายคี่ แกนกลางมีปีก ช่อดอกแบบช่อกระจุก ผลกลม แบนเล็กน้อย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Nooteboom, H.P. (1981). Simaroubaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 445–446.

Peng, H. and T.G. Harley. (2008). Cneoraceae. In Flora of China Vol. 11: 99.