สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ข่อย
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Streblus asper Lour.

Moraceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. มักแตกกอ หูใบยาว 3–5 มม. ใบรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 13 ซม. แผ่นใบสาก ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบข้างละ 4–8 เส้น ก้านใบยาว 1–5 มม. ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุกแน่น เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง 1.5 ซม. ดอกเกือบไร้ก้าน กลีบรวมยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้ยาวเท่า ๆ กลีบรวม ช่อดอกเพศเมียก้านช่อยาวได้ถึง 2 ซม. กลีบรวมขยายในผล ยาว 5–8 มม. มีขนสั้นนุ่ม ยอดเกสรเพศเมียขยายในผลยาวได้ถึง 1.2 ซม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 6–8 มม. สุกสีเหลืองอมส้ม

พบที่อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่โล่ง หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร เนื้อไม้ทุบใช้แปรงฟันแก้เหงือกอักเสบ

ชื่อสามัญ   Siamese rough bush, Tooth brush tree

ชื่ออื่น   กักไม้ฝอย (ภาคเหนือ); ข่อย (ทั่วไป); ซะโยเส่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ตองขะแหน่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ส้มพอ (เลย); สะนาย (เขมร)

ข่อย: ขอบจักฟันเลื่อย ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุกแน่น ช่อดอกเพศเมียมักมีดอกเดียว ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก กลีบรวมขยายในผล ผลสุกสีเหลืองอมส้ม (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Berg, C.C., N. Pattharahirantricin and B. Chantarasuwan. (2011). Moraceae. In Flora of Thailand Vol. 10(4): 667–674.

Wu, Z., Z.K. Zhou and M.G. Gilbert. (2003). Moraceae. In Flora of China Vol. 5: 28–30.