สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ขี้เหล็ก
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Senna siamea (Lam.) H.S.Irwin & Barneby

Fabaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. หูใบรูปลิ่มแคบ ใบประกอบมีใบย่อย 7–15 คู่ แกนกลางยาว 10–35 ซม. ก้านใบสั้น ใบย่อยรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 3–7 ซม. ปลายกลมหรือเว้าตื้น มีติ่งแหลม โคนกลม แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 1 ม. ก้านดอกยาว 2–3 ซม. กลีบเลี้ยงคู่นอกยาวประมาณ 5 มม. 3 กลีบใน ยาวประมาณ 9 มม. กลีบดอกรูปเกือบกลม ยาว 1.5–2 ซม. เกสรเพศผู้อันยาว 2 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 ซม. อับเรณูยาว 6–7 มม. อันสั้น 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2–4 มม. อับเรณูยาว 5–6 มม. ลดรูป 3 อัน รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ฝักรูปแถบ แบน ยาว 20–30 ซม. รอยเชื่อมเป็นสันนูน มี 20–30 เมล็ด

พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนมากขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ชายป่า ความสูงระดับต่ำ ๆ และปลูกเป็นไม้สองข้างถนน ใบและฝักมีพิษต่อสัตว์เลี้ยง ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณแก้ปวดท้อง แก้ไอ ไข้มาลาเรีย และโรคเบาหวาน

ชื่อพ้อง  Cassia siamea Lam.

ชื่อสามัญ  Cassod tree, Thai copper pod

ชื่ออื่น   ขี้เหล็ก (ทั่วไป); ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี); ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง, สุราษฎร์ธานี); ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ); ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง); ผักจี้ลี้ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); แมะขี้เหละพะโดะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ยะหา (มาเลย์-ปัตตานี)

ขี้เหล็ก: ใบประกอบ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ปลายและโคนใบกลม ฝักรูปแถบ แบน รอยเชื่อมเป็นสันนูน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Chen, D., D. Zhang and K. Larsen. (2010). Fabaceae (Cassieae). In Flora of China Vol. 10: 28–31.

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 102–123.