สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ขี้เหล็กเลือด
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Senna timoriensis (DC.) H.S.Irwin & Barneby

Fabaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนสั้นนุ่มกระจาย หูใบรูปติ่งหู ยาว 1.5–2 ซม. ใบประกอบมีใบย่อย 10–20 คู่ แกนกลางยาว 20–30 ซม. ก้านใบยาว 1–2 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 2–6 ซม. ปลายมีติ่งแหลม โคนกลม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาว 10–30 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ 2.5 ซม. ก้านดอกยาว 1–3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายกลม ยาว 0.7–1.5 ซม. มีขนด้านนอก กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 1.5–2 ซม. เกสรเพศผู้อันยาว 2 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2–4 มม. อับเรณูยาว 0.8–1 ซม. อันสั้น 5 อัน อับเรณูสั้นกว่าเล็กน้อย ลดรูป 3 อัน รังไข่เกลี้ยง ฝักรูปแถบ แบน ยาว 8–16 ซม. ปลายมีจะงอย มี 10–30 เมล็ด

พบที่อินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่มีหินปูน ป่าเต็งรัง ป่าชายหาด หรือชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่อพ้อง  Cassia timoriensis DC.

ชื่อสามัญ  Golden bird, Limestone Cassia

ชื่ออื่น   กะแลงแง็น (นราธิวาส); ขี้เหล็กคันชั่ง (ภาคเหนือ); ขี้เหล็กดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ขี้เหล็กแดง (ภาคเหนือ); ขี้เหล็กนางชี (ภาคใต้); ขี้เหล็กป่า (ภาคใต้, ภาคตะวันออกเฉียงใต้); ขี้เหล็กพันชั่ง (ภาคเหนือ); ขี้เหล็กเลือด (ภาคใต้); จี้ลีหลอย (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); ช้าขี้เหล็ก (ภาคใต้); ปี้ตะกะ (ละว้า-เชียงใหม่); มะเกลือเลือด (ราชบุรี); แมะขี้เหละที, แมะแคะแหล่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ขี้เหล็กเลือด: หูใบรูปติ่งหู ปลายใบเป็นติ่งแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ฝักรูปแถบ ปลายมีจะงอย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Chen, D., D. Zhang and K. Larsen. (2010). Fabaceae (Cassieae). In Flora of China Vol. 10: 28–31.

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 102–123.