สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ขี้อ้น
วันที่ 17 สิงหาคม 2559

Helicteres lanata (Teijsm. & Binn.) Kurz

Malvaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–2 ม. ใบรูปไข่ ยาว 2.5–10 ซม. โคนมน ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยเล็กน้อย แผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อดอกออกสั้น ๆ หนาแน่นช่วงปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบดอก ด้านนอกมีขนหนาแน่น ดอกสีม่วงอ่อน ด้านในสีเข้ม กลีบรูปใบหอกและรูปใบพาย ปลายแหลมหรือมน ยาว 0.8–1 ซม. รยางค์ติดเกือบตรงข้ามที่ก้านกลีบ ก้านชูเกสรร่วมเรียวยาว ปลายเป็นเหลี่ยม เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียจัก 5 พูตื้น ๆ ผลรูปทรงกระบอก ยาว 1–2 ซม. มีขนยาวหนาแน่น

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และสุมาตรา ในไทยแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไป ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ความสูง 100–300 เมตร

ชื่อพ้อง  Oudemansia lanata Teijsm. & Binn.

ชื่ออื่น   ขี้ตุ่น (นครราชสีมา); ขี้แมว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ขี้อ้น (ราชบุรี); ปอกระเจาขาว (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ปอเขียง (ภาคตะวันตกเฉียงใต้)

ขี้อ้น: ช่อดอกออกหนาแน่นตอนปลายกิ่ง แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ดอกสีม่วงอ่อน ผลรูปทรงกระบอกสั้น ๆ มีขนหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 563–571.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 318–319.