สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ขันทองพยาบาท
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Suregada multiflora (A.Juss.) Baill.

Euphorbiaceae

ไม้ต้น สูงไม่เกิน 15 ม. แยกเพศต่างต้น หูใบเชื่อมติดกันขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 12–15 ซม. แผ่นใบมีจุดโปร่งแสง ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ๆ ออกตรงข้ามใบ ก้านช่อยาวได้ถึง 1 ซม. ก้านดอกยาว 4–6 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปรี ยาว 3–4 มม. ไม่มีกลีบดอก จานฐานดอกเป็นวง มีต่อมกระจาย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง อับเรณูติดด้านหลัง เป็นหมันในดอกเพศเมีย รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรแยก 2 แฉก ผลสด ผนังชั้นในแข็ง จักเป็นพูตื้น ๆ ยาว 2.5–3.5 ซม. แตกเป็น 3 ส่วน มีคอลิวเมลลา เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีขาว

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ และชายป่าที่แห้งแล้ง ความสูงไม่เกิน 500 เมตร น้ำคั้นจากใบใช้แก้ไข้

สกุล Suregada Roxb. ex Rottler อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Crotonoideae มีประมาณ 30 ชนิด พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ และเอเชีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาเตลูกู ในอินเดีย “soora gade” ที่ใช้เรียกพืชชนิดนี้

ชื่อพ้อง  Gelonium multiflorum A.Juss.

ชื่อสามัญ  False lime

ชื่ออื่น   กระดูก (ภาคใต้); ขนุนดง (Phetchabun); ขอบนางนั่ง (Trang); ขัณฑสกร (Chanthaburi); ขันทอง (Phichit); ขันทองพยาบาท (ภาคกลาง); ข้าวตาก (Kanchanaburi); ขุนทอง, คุณทอง (ประจวบคีรีขันธ์); โจ่ง (Suai-Surin); ช้องรำพัน (Chanthaburi); ชายปลวก (ภาคใต้); ดูกไทร, ดูกไม้ (Loei); ดูกหิน (Saraburi); ดูกไหล (Nakhon Ratchasima); ทุเรียนป่า (Lampang); ป่าช้าหมอง (Phrae); ไฟ (Lampang); มะดูก (ภาคกลาง); มะดูกดง (Prachin Buri); มะดูกเลื่อม (ภาคเหนือ); ยางปลอก (Phrae); ยายปลวก (ภาคใต้); สลอดน้ำ (Chanthaburi); หมากดูก (ภาคกลาง); เหมือดโลด (Loei); เหล่ปอ (Karen-Phrae); ฮ่อสะพายควาย (Phrae)

ขันทองพยาบาท: ช่อดอกเพศผู้ ออกตรงข้ามใบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ไม่มีกลีบดอก ผลแตกเป็น 3 ส่วน (ภาพ: สุคนธทิพย์ ศิริมงคล, ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Chantharaprasong, J. (2007). Euphorbiaceae (Suregada). In Flora of Thailand Vol. 8(2): 564–566.