สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กำลังช้างสาร
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Beaumontia murtonii Craib

Apocynaceae

ไม้เถา ลำต้นมีช่องอากาศ กิ่งมีขนสั้นนุ่ม ใบเรียงตรงข้าม มีต่อมยาวตามซอกใบ ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 9–30 ซม. ก้านใบยาว 1–2.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ยาวได้ถึง 20 ซม. มี 3–15 ดอก ใบประดับขนาดใหญ่ ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงคล้ายใบประดับ 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 2.5–4 ซม. ดอกสีขาว กลีบดอกเรียงซ้อนทับด้านขวาในตาดอก ดอกบานรูปกรวยกว้าง หลอดกลีบยาว 4–6 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ยาว 1.8–5.6 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใต้กึ่งกลางหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูยาว 1.5–3.5 ซม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ อับเรณูแนบติดกับเกสรเพศเมีย อับเรณูยาว 1–1.4 ซม. โคนเป็นเงี่ยง จานฐานดอกจัก 5 พู มี 2 คาร์เพล เชื่อมติดกัน เรียวยาวเป็นก้านเกสรเพศเมีย มีขนหนาแน่น ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3.6 ซม. รวมยอดเกสรเพศเมีย ผลแตกแนวเดียว รูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 20 ซม. ผิวมีช่องอากาศ เมล็ดจำนวนมาก เรียว ยาว 1–2 ซม. ปลายมีกระจุกขน ยาว 3–8 ซม.

พบที่จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง โดยเฉพาะริมลำธาร ความสูงระดับต่ำ ๆ ยางมีพิษใช้อาบหัวลูกศร

สกุล Beaumontia Wall. มี 10 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีพืชพื้นเมือง 3 ชนิด เป็นไม้ประดับ 1 ชนิด คือ หิรัญญิการ์ B. multiflora Teijsm. & Binn. มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย กลีบเลี้ยงขนาดเล็กกว่า ก้านชูอับเรณูสั้น ชื่อสกุลตั้งตาม Lady Diane Beaumont (1786–1854) ผู้ส่งตัวอย่างพรรณไม้ให้กับ Nathaniel Wallich นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ ที่สวนพฤกษศาสตร์กัลกัตตา ในอินเดีย

ชื่ออื่น   กำลังช้างสาร (ภาคกลาง); เครือง้วนเห็น (อุตรดิตถ์); เถาจักรลาช (ประจวบคีรีขันธ์); ศาลาน่อง (อุดรธานี); ไส้ตันใหญ่ (ปราจีนบุรี)

กำลังช้างสาร: ช่อดอกแบบช่อกระจุก ดอกขนาดใหญ่รูปกรวยกว้าง กลีบดอกเรียงซ้อนทับด้านขวาในตาดอก กลีบเลี้ยงคล้ายใบประดับ ผลแตกแนวเดียว รูปขอบขนาน ขนาดใหญ่ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Middleton, D.J. (1999). Apocynaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 103–104.