สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กาบกล้วย
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Pisonia umbellifera (J.R.Forst. & G.Forst.) Seem.

Nyctaginaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. ใบเรียงเวียนหรือเกือบตรงข้าม รูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 10–30 ซม. ก้านใบยาว 1–2.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม แยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว 4–12 ซม. ดอกสมบูรณ์เพศและแยกเพศร่วมต้น ก้านดอกยาว 1–6 มม. ใบประดับย่อย 1–3 ใบ ดอกเพศผู้กลีบรวมเว้าเหนือรังไข่ รูประฆัง ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลประปราย ปลายแยก 5 กลีบสั้น ๆ เกสรเพศผู้ 7–10 อัน ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน โคนเชื่อมติดกันเป็นวง ดอกเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาวเท่า ๆ ดอกเพศผู้ กลีบติดทนหุ้มรังไข่คล้ายรังไข่ใต้วงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียจักชายครุย ยื่นเลยพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย ผลเป็นแท่งเรียว ยาว 2.5–4 ซม. มี 5 สัน มีเมือกเหนียว ก้านยาว 1–1.5 ซม. มีเมล็ดเดียว รูปขอบขนาน มีร่องตื้น

พบที่ฮาวาย มาดากัสการ์ ไห่หนาน ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น หรือเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร สารสกัดจากใบแก้พิษจากปลาทะเล

สกุล Pisonia L. มีประมาณ 40 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาเขตร้อน ในไทยเป็นพืชพื้นเมือง 2 ชนิด อีกชนิดคือ คัดเค้าหมู P. aculeta L. เป็นไม้พุ่มหรือไม้เถามีหนาม ผลสั้นกว่า พบทุกภาค และเป็นไม้ประดับ 1 ชนิด คือ แสงจันทร์ P. grandis R.Br. ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวดัตซ์ Willem Piso (1611–1678)

ชื่อพ้อง  Pisonia excelsa Blume, Ceodes umbellifera J.R.Forst. & G.Forst.

ชื่ออื่น   กาบกล้วย (ยะลา); ตังหนูต้น (ชัยภูมิ); มะกั๋งร่ม (กรุงเทพฯ)

กาบกล้วย: ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม แยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ผลเป็นแท่งเรียว มี 5 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. (1991). Nyctaginaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(3): 366–374.

Lu, D. and M.G. Gilbert. (2003). Nyctaginaceae. In Flora of China Vol. 5: 430–431.