| | Eclipta prostrata (L.) L. |
|
ไม้ล้มลุก ทอดนอน สูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นส่วนมากมีสีน้ำตาลแดง มีขนเอนตามกิ่ง แผ่นใบ ก้านช่อดอก และวงใบประดับ ใบเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 1–5.5 ซม. โคนสอบเรียวเป็นก้านใบสั้น ๆ หรือไร้ก้าน ขอบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ เส้นออกใกล้โคนใบข้างละเส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบ 1–2 ช่อ ก้านช่อสั้นหรือยาวได้ถึง 4 ซม. ช่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 5–7 มม. ขยายในผลได้ถึง 1 ซม. วงใบประดับรูปถ้วย ใบประดับ 8–12 อัน เรียง 2 วง วงนอกรูปไข่ ยาว 4–6 มม. วงในขนาดเล็กกว่า ติดทน ฐานดอกแบน มีกาบรูปแถบ ยาวประมาณ 3 มม. ดอกวงนอกมี 20–40 ดอก เรียง 2 วง เป็นดอกเพศเมีย สีขาว กลีบรูปแถบ ยาว 1.5–2.5 มม. ปลายจัก 2 พู ดอกวงในสมบูรณ์เพศ มี 15–30 ดอก หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายจัก 4 แฉก ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก ผลแห้งเมล็ดล่อน มี 3–4 เหลี่ยม รูปขอบขนานปลายตัด ยาว 3–3.5 มม. มีขนและตุ่มกระจาย แพปพัสคล้ายเกล็ดขนาดเล็ก 2 อัน
มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ขึ้นเป็นวัชพืชทั้งในยุโรป แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร ทั้งต้นมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง
สกุล Eclipta L. อยู่ภายใต้เผ่า Heliantheae มี 4 ชนิด พบในอเมริกา ในไทยพบเป็นวัชพืชชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “ekleipo” ไม่มี อาจหมายถึงแพปพัสลดรูปเป็นเกล็ดเหมือนไม่มี
| ชื่อพ้อง Verbesina prostrata L., Eclipta angustata Umemoto & H.Koyama, Eclipta alba Hassk.
| | ชื่อสามัญ False daisy
| ชื่ออื่น กะเม็ง, กะเม็งตัวเมีย, คัดเม็ง (ภาคกลาง); บังกีเช้า (จีน); หญ้าสับ, ฮ่อมเกี่ยว (ภาคเหนือ)
| | กะเม็ง: ช่อกระจุกแน่นออกตามซอกใบ 1–2 ช่อ วงใบประดับติดทน แพปพัสลดรูปเป็นเกล็ด (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|