| กะออก
| | | วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 |
| Artocarpus elasticus Rienw. ex Blume |
|
ไม้ต้น สูงได้ถึง 45 ม. โคนต้นมีพูพอน แยกแพศร่วมต้น น้ำยางสีขาว กิ่งมีช่องอากาศ หูใบรูปขอบขนาน ยาว 4–20 ซม. หุ้มยอด มีขนยาว ใบเรียงเวียน ใบอ่อนขอบจักลึก 3–5 พู ใบแก่รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 13–60 ซม. ก้านใบยาวได้ถึง 10 ซม. ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด ออกเดี่ยว ๆ รูปทรงกระบอก ยาว 6–15 ซม. ก้านช่อหนา ยาว 3.5–7.5 ซม. มีขนประปราย กลีบรวมเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายจักตื้น ๆ 2 พู เกสรเพศผู้ 1 อัน ยาวประมาณ 1 ซม. ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ รูปรี ก้านช่อหนา ยาว 4.5–12 ซม. มีขนประปราย กลีบรวมเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนรูปลิิ่มแคบหรือรูปเส้นด้าย ยาว 0.6–1.2 ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก ช่อผลรูปรีกว้าง ยาว 6–17 ซม. ปลายกลีบรวมติดบนผนังช่อด้านนอก มี 2 ขนาด ผนังช่อชั้นกลางนุ่ม ผลย่อยรูปรี ยาว 0.8–1 ซม.
พบที่พม่า ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ (ปาลาวัน) ในไทยพบทางภาคเหนือที่ตาก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ชลบุรี ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ ผลสุกและเมล็ดกินได้
สกุล Artocarpus J.R.Forst. & G.Forst. อยู่ภายใต้เผ่า Artocarpeae แยกเป็นสกุลย่อย Artocarpus และ Pseudojaca ตามการเรียงตัวของใบแบบเรียงเวียนหรือเรียงสลับระนาบเดียว หูใบขนาดใหญ่หุ้มยอดหรือหูใบขนาดเล็กด้านข้าง และช่อผลมีหนามหรือเรียบ ตามลำดับ มีประมาณ 45 ชนิด ส่วนใหญ่พบในภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยมีพืชพื้นเมือง 12 ชนิด เป็นไม้ผลต่างถิ่น 2 ชนิด คือ สาเก A. altilis (Parkinson) Fosberg มีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ หมู่เกาะโมลุกกะ นิวกินี และขนุน A. heterophyllus Lam. มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ส่วนจำปาดะ A. integer (Thunb.) Merr. ที่นิยมปลูกทางภาคใต้ พบกระจายทั่วไปในป่าดิบชื้นระดับต่ำ ๆ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “artos” ขนมปัง และ “kapos” ผล หมายถึงผลของสาเกที่มีแป้งนำไปปรุงอาหารให้รสชาติเหมือนขนมปัง
| | | | ชื่ออื่น กะออก, กะเอาะ (ภาคใต้);
ตือกะ (มาเลย์-ยะลา); เอาะ (ตรัง, ระนอง)
| | กะออก: กิ่งมีช่องอากาศ หูใบหุ้มยอดจนมิด มีขนยาว ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด ดอกเพศเมียออกเป็นช่อกระจุกแน่น ในผลปลายกลีบรวมติดบนผนังช่อด้านนอก มี 2 ขนาด (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Berg, C.C, E.J.H. Corner and F.M. Jarrett. (2006). Moraceae: genera other than Ficus. In Flora Malesiana Vol. 17(1): 88. |
| Berg, C.C., N. Pattharahirantricin and B. Chantarasuwan. (2011). Moraceae. In Flora of Thailand Vol. 10(4): 484–485. |