สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กะอวม
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Acronychia pedunculata (L.) Miq.

Rutaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ใบประกอบมีใบเดียว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 3.5–25 ซม. แผ่นใบมีต่อมน้ำมัน ก้านใบยาวได้ถึง 5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง 25 ซม. ก้านดอกยาว 0.2–1.2 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ดอกสีขาวเรียงจรดกันในตาดอก มี 4 กลีบ รูปใบหอก ยาว 0.4–1.2 ซม. พับงอกลับ ปลายมีติ่งแหลม เกสรเพศผู้ 8 อัน ยาวเท่า ๆ กลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูแผ่กว้าง มีขน จานฐานดอกสีเหลืองอ่อน หนาคล้ายนวม รังไข่มี 4 ช่องเชื่อมติดกัน แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด รังไข่และก้านเกสรเพศเมียส่วนมากมีขน ผลผนังชั้นในแข็ง จักตื้น ๆ 4 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1.5 ซม. เมล็ดรูปรี ยาว 3–7 มม. มีเยื่อหุ้ม

พบที่อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ในไทยพบทุกภาค ความสูงถึงประมาณ 2500 เมตร มีสรรพคุณต้านจุลชีพ ให้น้ำมันหอมระเหย รากแก้โรคปวดตามข้อ

สกุล Acronychia J.R.Forst. & G.Forst. มี 48 ชนิด พบในเอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “akros” ยอด และ “onychos” เล็บ ตามลักษณะของกลีบดอก

ชื่ออื่น   กระเบื้องถ้วย, ย้อมผ้าระนาบ (ภาคกลาง); กริง, เปล้าขลิบทอง (ปราจีนบุรี); กะอวม (เชียงใหม่, ประจวบคีรึขันธ์); ค้อนหมา, ชวน, อ่วม (สุราษฎร์ธานี); คะนาง, ชะนาง (จันทบุรี); ชุ่มฉ่ำ (เลย); ทองฟ้า (ประจวบคีรึขันธ์); น้ำผึ้งใหญ่, ยมป่า (นครราชสีมา); พูมารี (ทั่วไป); ไพรสามกอ (ประจวบคีรึขันธ์); มะงัน (ชลบุรี, ปราจีนบุรี); มะยมป่า (นราธิวาส); ยาโกร้ง (ยะลา)

กะอวม: ช่อกระจุกแยกแขนง กลีบดอกพับงอกลับ ผลจักตื้น ๆ 4 พู (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Zhang, D. and T.G. Hartley. (2008). Rutaceae. In Flora of China Vol. 11: 76–77.