สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กะตังใบ
วันที่ 29 เมษายน 2559

Leea indica (Burm.f.) Merr.

Vitaceae

ไม้พุ่ม รอเลื้อย หรือไม้ต้น สูงได้ถึง 7 ม. กิ่งมีช่องอากาศ หูใบมีปีกรูปไข่กลับ ยาวได้ถึง 6 ซม. ใบประกอบ 1–3 ชั้น ใบประกอบย่อยมีได้ถึง 4 คู่ แกนกลางยาว 9–70 ซม. ก้านยาว 7–34 ซม. ใบย่อยรูปไข่ แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 30 ซม. ขอบจักซี่ฟัน ก้านใบยาว 0.2–2 ซม. ช่อดอกส่วนมากยาวได้ถึง 27 ซม. แผ่กว้าง ก้านช่อยาวได้ถึง 10 ซม. ดอกสีเขียวอ่อนหรืออมเหลือง ก้านดอกยาว 0.5–1.5 มม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วยยาวประมาณ 2 มม. ปลายจักตื้น ๆ กลีบดอกยาว 3–4 มม. แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง หลอดเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาว 1.2–2.2 มม. โคนแยกกัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 1–2 มม. ผลจักเป็นพูเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9–1 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลแดง

พบตั้งแต่อินเดีย ถึงออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นหลากหลายสภาพป่า ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร คล้ายกับ กระตังใบแดง L. rubra Blume และ L. guineensis G.Don ซึ่งทั้งสองชนิดมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีแดง

ชื่อสามัญ  Common tree-vine

ชื่ออื่น   กะตังใบ (ทั่วไป); คะนางใบ (ตราด); ช้างเขิง (เงี้ยว); ดังหวาย (นราธิวาส); ตองจ้วม, ตองต้อม (ภาคเหนือ); บังบายต้น (ตรัง)

กะตังใบ: กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเขียว ผลกลมหรือจักเป็นพูเล็กน้อย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Chen, Z. and J. Wen. (2007). Leeaceae. In Flora of China Vol. 12: 169–170.

van Welzen, P.C. (2010). Leeaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(2): 209–230.