สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กอมขม
วันที่ 29 เมษายน 2559

Picrasma javanica Blume

Simaroubaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. แยกแพศร่วมต้นหรือมีดอกสมบูรณ์เพศด้วย หูใบรูปรี ยาว 0.7–2.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบประกอบเรียงเวียน มีใบย่อย 2–4 คู่ ก้านใบประกอบยาว 2–6 ซม. ใบย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4–20 ซม. ก้านใบย่อยสั้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาวได้ถึง 20 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก กลีบดอก 4 กลีบ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2–5 มม. ในดอกเพศเมียยาว 3–7 มม. ติดทน ขยายในผลยาว 1–2 ซม. เกสรเพศผู้ 4 อัน ยาว 0.5–5 มม. ก้านชูอับเรณูมีขนที่โคน จานฐานดอกขยายในผล มี 4 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 2 มม. มี 1–4 ผลย่อยติดบนจานฐานดอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. สีขาว เขียว หรือฟ้าอมน้ำเงิน

พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ขึ้นริมลำธารในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ความสูง 500–700 เมตร เปลือกบางมีรสขม มีสรรพคุณช่วยลดไข้

สกุล Picrasma Blume มีประมาณ 9 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “pikrasmos” ขม หมายถึงพืชมีรสขม (เปลือก)

ชื่ออื่น   กรอสะนาสมูล (เขมร-ภาคตะวันออกเฉียงใต้); กอมขม, ขางขาว, ขางครั่ง, มะค้า (ภาคเหนือ); กะลำเพาะต้น, หมาชล (ชลบุรี); ดำ (นครศรีธรรมราช); ดีงูต้น (พิษณุโลก); ตะพ้านก้น (เชียงใหม่); เนียปะโจะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); มะปอจอ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ); ไม้หอมตัวผู้ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); หงีน้ำ, หยีน้ำใบเล็ก (ตรัง); หมักกอม (เงี้ยว-เชียงใหม่)

กอมขม: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 4 กลีบ ขยายในผล ผลย่อยติดบนจานฐานดอก (ภาพ: David Middleton, ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Nooteboom, H.P. (1981). Simaroubaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 446–447.