สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กล้วยจะก่าหลวง
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Globba winitii C.H.Wright

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 70 ซม. ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 15–25 ซม. โคนรูปหัวใจแคบ ๆ แฉกลึก ใบอ่อนมีขน ก้านใบยาว 5–7 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ยาว 8–15 ซม. โค้งลง ใบประดับรูปไข่กว้างหรือแกมรูปขอบขนาน สีขาวอมม่วง ชมพู หรือม่วงเข้ม ยาว 1–3 ซม. ช่อแขนงมี 2–3 ดอก ใบประดับย่อยขนาดเล็กกว่าใบประดับ กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 5 มม. ปลายแยก 3 แฉก หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบดอกยาวประมาณ 5 มม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปใบหอก ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก กลีบปากรูปสามเหลี่ยม กางออกสองข้าง ก้านชูอับเรณูโค้งลง ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายอับเรณูแผ่รูปดาวข้างละ 2 แฉก ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรรูปถ้วย ผลรูปไข่ ยาวประมาณ 7 มม. จัก 3 พูตื้น ๆ ผิวขรุขระ มี 6 เมล็ด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ว่านทับทิมสยาม, สกุล)

พืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือ และภาคกลาง ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อพระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ)

ชื่อสามัญ  Dancing ladies ginger

ชื่ออื่น   กล้วยจะก่าหลวง (ลำพูน); กลางคาน, ว่านสาวหลง (ภาคกลาง)

กล้วยจะก่าหลวง: โคนใบรูปหัวใจแคบ ๆ ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง โค้งลง ช่อแขนงมี 2–3 ดอก ใบประดับสีม่วงเข้มหรือขาวอมม่วง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Craib, W.G. (1926). Contributions to the Flora of Siam. Bulletin of Miscellaneous Information Kew 1926: 173.

Larsen, K. (1972). Studies in the genus Globba in Thailand. Notes from the Royal Botanic Garden, Edinburgh 31: 237.