สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กระเบากลัก
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Hydnocarpus ilicifolius King

Achariaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. แยกเพศต่างต้น ใบรูปไข่ รูปไข่กลับ หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 9–22 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันห่าง ๆ ก้านใบยาวได้ถึง 1.5 ซม. ช่อดอกมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ก้านดอกยาวได้ถึง 2 ซม. กลีบเลี้ยงรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 9 มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกสีเขียวอ่อน กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ถึง 8 มม. ด้านนอกมีขนประปราย เกล็ดที่โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่มีขนหนาแน่น ไม่มีรังไข่ที่เป็นหมันในดอกเพศผู้ ผลรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 8 ซม. มีขนสั้นนุ่มสีดำหนาแน่น ผนังผลชั้นกลางหนาประมาณ 3 มม. เมล็ดยาวประมาณ 2.5 ซม.

พบที่ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นที่เป็นหินปูน ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร

ชื่ออื่น   กระเบากลัก (สระบุรี); กระเบาซาวา (เขมร-กาญจนบุรี); กระเบาพนม (เขมร-สุรินทร์); กระเบาลิง (ทั่วไป); กระเบาหิน (อุดรธานี); กระเบียน (จันทบุรี); กระเรียน (ชลบุรี); ขี้มอด (จันทบุรี); คมขวาน (ประจวบคีรีขันธ์); จ้าเมี่ยง (สระบุรี, แพร่); ดูกช้าง (กระบี่); บักกราย, พะโลลูตุ้ม (มาเลย์-ปัตตานี); หัวค่าง (ภาคใต้)

กระเบากลัก: ขอบใบจักซี่ฟันห่าง ๆ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลรูปกลม มีขนสั้นนุ่มสีดำหนาแน่น (ภาพ: Bob Harwood, ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Harwood, B. and B. Webber. (2015). Achariaceae. In Flora of Thailand Vol. 13(1): 2–12.