สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กระเทียมต้น
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Scorodocarpus borneensis (Baill.) Becc.

Strombosiaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 7–22 ซม. แผ่นใบด้านบนเป็นมันวาว มีปุ่มกระจาย ก้านใบยาว 1–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ๆ ออกตามซอกใบ มีขนละเอียด ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่ม 2–3 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. ขยายในผล กลีบเลี้ยงจักตื้น ๆ 4–5 กลีบ กลีบดอก 4–5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 0.8–1 ซม. มีขนยาวนุ่มคล้ายแปรงด้านใน ปลายพับงอกลับ เกสรเพศผู้จำนวน 2 เท่าของกลีบดอก ติดเป็นคู่ด้านล่างกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปแถบ ยาว 3–4 มม. รังไข่มี 3–4 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ยอดเกสรจัก 3–4 พู ผลผนังชั้นในแข็ง กลมหรือคล้ายรูปลูกแพร์ เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–7 ซม. มีริ้วจำนวนมาก ก้านผลหนา ผนังด้านในหนา 2–2.5 ซม. มีเส้นใยหนาแน่น มีเมล็ดเดียว

พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว และภาคใต้ตอนล่างของไทย ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร ใบ เปลือก และผล มีกลิ่นคล้ายกระเทียม ในมาเลเซียใช้ปรุงอาหารแทนกระเทียม ผลใช้บรรเทาพิษที่เกิดจากยางน่อง Antiaris toxicaria Lesch.

สกุล Scorodocarpus Becc. มีเพียงชนิดเดียว บางข้อมูลให้อยู่ภายใต้วงศ์ Olacaceae ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “skorodon” กระเทียม และ “karpos” ผล หมายถึงผลที่มีกลิ่นคล้ายกระเทียม

ชื่อพ้อง  Ximenia borneensis Baill.

ชื่ออื่น   กระเทียมต้น (ภาคใต้); กุเลง, กุหลิม (มาเลย์-ภาคใต้)

กระเทียมต้น: ใบเรียงเวียน แผ่นใบเขียวเป็นมันด้านบน ผลแบบผนังชั้นในแข็ง ก้านผลหนา (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Sleumer, H. (1984). Olacaceae. In Flora Malesiana Vol. 10: 15–17.