สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กระเจี๊ยบ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Hibiscus sabdariffa L.

Malvaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 2 ม. ลำต้นสีแดงอมม่วง มีขนยาวตามหูใบ ก้านใบ และริ้วประดับ หูใบรูปเส้นด้าย ใบที่โคนรูปไข่ ใบตามลำต้นและปลายกิ่งรูปฝ่ามือ มี 3–5 แฉก ยาว 2–8 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีต่อมกระจายด้านล่าง ก้านใบยาว 2–8 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกสั้น ริ้วประดับสีแดง มี 8–12 อัน รูปใบหอก ยาว 0.5–1.5 ซม. เชื่อมติดกันที่โคน ปลายมีรยางค์คล้ายหนาม กลีบเลี้ยงสีแดง รูปสามเหลี่ยม ยาว 1–2 ซม. ติดทน มีขนและหนามกระจาย ดอกสีเหลืองนวล โคนดอกด้านในสีแดง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 6–7 ซม. เส้าเกสรยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง ผลแห้งแตก มี 5 ซีก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. มีขนหยาบ เมล็ดรูปคล้ายไต (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชบา, สกุล)

มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก ปลูกทั่วไปในเขตร้อน กลีบเลี้ยงตากแห้งทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย และควบคุมความดันโลหิต ทั้งต้นใช้ขับปัสสาวะ คลายกล้ามเนื้อ รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ชื่อสามัญ  Jamaica sorrel, Roselle

ชื่ออื่น   กระเจี๊ยบแดง, กระเจี๊ยบเปรี้ยว, กระเจี๊ยบ (ภาคกลาง); ส้มเก็งเค็ง (ภาคเหนือ); ส้มตะเลงเครง (ตาก); ส้มปู (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

กระเจี๊ยบ: ใบรูปฝ่ามือ โคนดอกด้านในสีแดง ริ้วประดับมี 8–12 อัน ติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 293.