สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กระทืบยอบ
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Biophytum umbraculum Welw.

Oxalidaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 15 ซม. ใบประกอบมีใบย่อย 3–9 คู่ แกนกลางยาวได้ถึง 3.5 ซม. ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือเกือบกลม เบี้ยว ยาว 2–8 มม. เส้นแขนงใบมีจำนวนไม่มาก เกือบตั้งฉากเส้นกลางใบ ไร้ก้าน ช่อดอกไร้ก้านหรือมีก้านยาวได้ถึง 3 ซม. ออกแน่นที่ยอด ก้านดอกยาว 1–3 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 3–5 มม. ติดทน ดอกสีเหลืองอมส้ม โคนด้านในสีเหลือง กลีบรูปใบหอก ยาว 0.6–1 ซม. ปลายกลม ผลรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3–4 มม. แต่ละซีกมี 3–4 เมล็ด

พบที่แอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย นิวกินี และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือชายป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร

ชื่อพ้อง  Biophytum petersianum Klotzsch

ชื่ออื่น   กระทืบยอบ (ทั่วไป); ทืบยอด (สุราษฎร์ธานี); นกเขาเง้า (นครราชสีมา); ห่อตูปลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

กระทืบยอบ: ใบย่อยโคนเบี้ยว เส้นแขนงใบจำนวนไม่มาก ดอกแบบช่อซี่ร่มเป็นกระจุกสั้น ๆ หรือมีก้านช่อ ช่วงโคนกลีบดอกสีเข้ม (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Liu, Q. and M. Watson. (2008). Oxalidaceae. In Flora of China Vol. 11: 2.

Veldkamp, J.F. (1970). Oxalidaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 16–23.