สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กระดังงา
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson

Annonaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน เส้นแขนงใบ ก้านใบ ช่อดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 10–20 ซม. โคนเบี้ยว ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามกิ่งหรือซอกใบ ก้านดอกยาว 2–5 ซม. กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปไข่ พับงอกลับ ยาวประมาณ 7 มม. กลีบดอก 6 กลีบ รูปแถบ ยาวเท่า ๆ กัน ยาว 5–7.5 ซม. ก้านกลีบสั้น เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ 3 มม. แกนอับเรณูมีรยางค์เป็นติ่ง คาร์เพลแยกกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นชั้นบาง ๆ ติดจานฐานดอกเป็นรูปหมวก ผลย่อยรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2.3 ซม. สุกสีดำ ก้านยาว 1.2–1.8 ซม. มี 2–12 เมล็ด เรียงสองแถว

พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยพบทางภาคใต้ และเป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอมแรง ชนิดย่อย var. fruticosa (Craib) J.Sinclair หรือกระดังงาสงขลา เป็นไม้พุ่ม กลีบดอกหลายกลีบ พบเฉพาะที่ปลูกเป็นไม้ประดับ

สกุล Cananga (DC.) Hook.f. & Thomson มี 2 ชนิด อีกชนิดคือ สะแกแสง C. brandisiana (Pierre) I.M.Turner ชื่อเดิมคือ C. latifolia (Hook.f. & Thomson) Finet & Gagnep. ชื่อสกุลมาจากภาษามาเลย์ “kenanga” ที่ใช้เรียกกระดังงา

ชื่อพ้อง  Uvaria odorata Lam., Canangium odoratum (Lam.) Baill. ex King

ชื่อสามัญ  Cananga tree, Ylang-ylang tree

ชื่ออื่น   กระดังงา (ทั่วไป); กระดังงาไทย, กระดังงาใบใหญ่, กระดังงาใหญ่ (ภาคกลาง); สะบันงา, สะบันงาต้น (ภาคเหนือ)

กระดังงา: ช่อดอกออกเป็นกระจุกสั้น กลีบเลี้ยงพับงอกลับ กลีบดอกรูปแถบ ยาวเท่า ๆ กัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Craib, W.G. (1922). Contributions to the Flora of Siam. Bulletin of Miscellaneous Information Kew 1922: 166.

Sinclair, J. (1955). A revision of the Malayan Annonaceae. Gardens’ Bulletin Singapore 14: 323–325.