สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กรดน้ำ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

Scoparia dulcis L.

Plantaginaceae

ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูงได้ถึง 1 ม. มีขนตามข้อ ใบเรียงตรงข้ามหรือรอบข้อ รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 0.5–3.5 ซม. โคนเรียวจรดก้านใบ ขอบจักซี่ฟัน แผ่นใบด้านล่างมีต่อมโปร่งแสง ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ดอกออกเป็นกระจุก 1–4 ดอกตามข้อ ก้านดอกยาวได้ถึง 1 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกจรดโคน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 มม. ขยายในผล ขอบมีขนครุย ดอกสีขาว โคนสีม่วงอ่อน มี 4 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3 มม. ปากหลอดกลีบมีขนหนาแน่น กลีบบนขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่นเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 4 อัน ยาวเท่า ๆ กลีบดอก รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลแห้งแตกเป็น 4 ซีก เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

พบทั่วไปในเขตร้อน เป็นวัชพืช ใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับสมุนไพรหลายขนาน มีสรรพคุณแก้ไข้มาลาเรีย และต้านเซลล์มะเร็ง

สกุล Scoparia L. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Scrophulariaceae มีประมาณ 20 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาเขตร้อน ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินหมายถึงคล้ายไม้กวาด มาจากคำว่า “scopa” กิ่งหรือไม้กวาด

ชื่อสามัญ  Goat weed, Licorice weed, Macao tea, Sweet broom weed

ชื่ออื่น    กรดน้ำ , กระต่ายจามใหญ่, มะไฟเดือนห้า (กรุงเทพฯ); กัญชาป่า (ปราจีนบุรี); ขัดมอนเทศ (ตรัง); ขัดมอนเล็ก, หนวดแมว (ภาคกลาง); ข้างไลดุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ตานซาน (ปัตตานี); เทียนนา (จันทบุรี); ปีกแมงวัน (กาญจนบุรี); ยูกวาดแม่หม้าย, หญ้าหัวแมงฮุน, หญ้าขัดหิน (ภาคเหนือ); หญ้าขัด (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); หญ้าจ้าดตู๊ด, หญ้าพ่ำสามวัน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); หูปลาช่อนตัวผู้ (ตราด)

กรดน้ำ: ใบเรียงรอบข้อ ขอบจักซี่ฟัน ดอกออกเป็นกระจุก 1–4 ดอกตามข้อ ปากหลอดกลีบมีขนหนาแน่น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Yamazaki, T. (1990). Scrophulariaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(2): 217–218.