Index to botanical names
Cyperaceae
กกมีไหล ปลายไหลมีหัวขนาดเล็ก ลำต้นและกาบคล้ายฟองน้ำ มีสามมุมแหลม สูง 1–2 ม. โคนแผ่กว้าง ใบออกจากโคน รูปแถบ ยาว 0.5–1.7 ม. กาบใบเปิด ยาวได้ถึง 30 ซม. ไม่มีลิ้นกาบ วงใบประดับคล้ายใบ มี 3–4 อัน ยาวได้ถึง 50 ซม. ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ หรือแยกแขนง กว้างยาว 6–15 ซม. ช่อแยกแขนงยาวได้ถึง 7 ซม. ช่อแขนงย่อยรองยาว 1–4 ซม. มีขนสาก ช่อดอกย่อยออกเดี่ยว ๆ รูปรี ยาว 0.5–1 ซม. สีน้ำตาลแดง กาบสีน้ำตาล รูปไข่คล้ายเรือ ยาว 2.5–3 มม. ปลายมน ขอบมีขนครุย แกนกลางเป็นสัน ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรวมคล้ายเส้นด้าย มี 5–6 อัน เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านเกสรเพศเมียต่อเนื่องจากรังไข่ ยอดเกสรเพศเมีย 3 อัน ผลรูปไข่กว้างคล้ายสามเหลี่ยม ยาว 1–2 มม. พบทั่วไปในเอเชียเขตร้อน ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ขึ้นหนาแน่นตามแหล่งน้ำ ส่วนมากพบในระดับความสูงต่ำ ๆ เป็นที่อาศัยของหนอนกอแถบลายสีม่วง (dark-headed stem borer) ศัตรูที่สำคัญของข้าว เป็นกกขนาดใหญ่ ลำต้นใช้ทอเสื่อและสานตะกร้า ทางภาคอีสานเรียก ผือ หรือ กกปรือ น่าจะมาจากชื่ออำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีสกุล Actinoscirpus (Ohwi) Haines & Lye อยู่ภายใต้เผ่า Scirpeae มีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “actino” รัศมี และสกุล Scirpus
ชื่อพ้อง Scirpus grossus L.f.
ชื่ออื่น กกคมบาง (ประจวบคีรีขันธ์); กกตะกลับ, กกตาแดง, กกปรือ, กกสามเหลี่ยม (กรุงเทพฯ); มะนิ่ว, มะเนี่ยว (ภาคเหนือ); แห้วกระดาน, แห้วหิน (ภาคตะวันตกเฉียงใต้)
กกสามเหลี่ยม: กกขนาดใหญ่ โคนต้นแผ่กว้าง ช่อดอกมักแยกแขนง ช่อดอกย่อยออกเดี่ยว ๆ สีน้ำตาลแดง (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี)
Simpson, D.A. and T. Koyama. (1998). Cyperaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(4): 274–275.