สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ไหมจุรี

ไหมจุรี
วันที่ 3 มกราคม 2561

Ceiba speciosa (A.St.-Hil.) Ravenna

Malvaceae

ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 20 ม. ลำต้นและกิ่งมีหนามหนา ใบประกอบรูปฝ่ามือ เรียงเวียน มีใบย่อย 5–7 ใบ รูปใบหอก ยาว 10–12 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อย ใบประดับร่วงเร็ว ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบก่อนผลิใบ ก้านดอกหนา ยาว 1–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง หนา แยก 3–5 แฉก ติดทน ด้านในมีขนหนาแน่น ดอกสีชมพู โคนสีครีมอมเหลือง มี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันแนบติดเส้าเกสรเพศผู้ กลีบรูปใบพาย กว้าง 2.5–3.5 ซม. ยาว 7–10 ซม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร เกลี้ยง หุ้มเกสรเพศเมีย บางครั้งปลายเส้าเกสรแยกเป็นก้านชูอับเรณูสั้น ๆ อับเรณู 5–15 อัน บิดงอ รังไข่มี 5 ช่อง เชื่อมติดกัน พลาเซนตารอบแกนร่วม ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรจักเป็นพู สีขาวหรือชมพู ผลแห้งแตก รูปไข่กว้าง ยาว 12–18 ซม. ผนังด้านในมีขนคล้ายไหม เมล็ดจำนวนมาก มีใยนุ่นหนาแน่น

มีถิ่นกำเนิดในบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย เปรู และโบลิเวีย เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน

สกุล Ceiba Mill. มีประมาณ 17 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาเขตร้อน พบในแอฟริกาชนิดเดียว ในไทยยังมี นุ่น C. pentandra (L.) Gaertn. ที่นิยมปลูกเพื่อนำเส้นใย (ปุยนุ่น) มาใช้ประโยชน์ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน และแอฟริกา ชื่อสกุลมาจากชื่อพื้นเมืองในอเมริกาใต้ที่เรียกพืชสกุลนี้

ชื่อพ้อง  Chorisia speciosa A.St.-Hil.

ชื่อสามัญ  False silk tree, Silk floss tree

ชื่ออื่น   งิ้วชมพู, ไหมจุรี (ทั่วไป)

ไหมจุรี: ใบประกอบรูปฝ่ามือ มีใบย่อย 5–7 ใบ ดอกสีชมพู โคนสีครีมอมเหลือง แนบติดเส้าเกสรเพศผู้ ปลายเส้าเกสรบางครั้งแยกเป็นก้านชูอับเรณูสั้น ๆ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Gibbs, P. and J. Semir. (2003). A taxonomic revision of the genus Ceiba Mill. (Bombacaceae). Anales del Jardín Botánico de Madrid 60(2): 271–273.

Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.