สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โหมหัด

โหมหัด  สกุล
วันที่ 3 มกราคม 2561

Duplipetala Thiv

Gentianaceae

ไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมี 3 หรือ 6 กลีบ โป่งพอง มีสันตื้น ๆ ผิวเป็นลายร่างแห ดอกรูปแตร มี 5–6 กลีบ กลีบดอกสั้นกว่าหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้เท่าจำนวนกลีบดอก ติดภายในหลอดกลีบ บางครั้งยาวไม่เท่ากัน มี 2 คาร์เพล พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ เกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรแยกเป็น 2 พู ผลแห้งแตกตามแนวประสาน เมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก

สกุล Duplipetala แยกมาจากสกุลสามยอด Canscora เช่นเดียวกับสกุลประกายฉัตร Phyllocyclus กลีบดอกมี 5–6 กลีบ ส่วนสกุล Phyllocyclus ใบติดรอบข้อ (perfoliate) มีเพียง 2 ชนิด พบที่คาบสมุทรมลายู และไทย ชื่อสกุลหมายถึงกลีบดอกเป็น 2 เท่าของกลีบเลี้ยงในชนิด D. pentanthera (C.B.Clarke) Thiv


โหมหัด
วันที่ 3 มกราคม 2561

Duplipetala hexagona (Kerr) Thiv

Gentianaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นมีสันเป็นเหลี่ยมตื้น ๆ ใบรูปไข่หรือแกมรูปใบหอก ยาว 1–7 มม. ปลายแหลม แผ่นใบบาง ก้านใบสั้นมาก ใบประดับรูปใบหอก ยาว 1–5 มม. ช่อดอกสั้น มี 3–8 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 3 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 6–8 มม. มีสัน 6 สัน คล้ายปีก กว้างประมาณ 1 มม. มีต่อมประปราย ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๆ 6 แฉก ยาวประมาณ 1 มม. ดอกสีขาว หลอดกลีบยาว 7–8 มม. ปลายแยกเป็น 6 แฉก หรือ 5 แฉก แฉกยาว 2–3 มม. เกสรเพศผู้ยาว 2–4 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ถึง 4 มม. ผลรูปขอบขนานยาว 3–4 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ ตาก ภาคตะวันออกที่นครราชสีมา และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามที่โล่งชายป่า หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร

ชื่อพ้อง  Canscora hexagona Kerr

โหมหัด: หลอดกลีบเลี้ยงมีสัน 6 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

โหมหัดเขา
วันที่ 3 มกราคม 2561

Duplipetala pentanthera (C.B.Clarke) Thiv

Gentianaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 60 ซม. ใบรูปไข่หรือแกมรูปใบหอก ยาว 3–10 ซม. ก้านใบยาว 1–4 ซม. ใบประดับรูปไข่ ติดรอบข้อ ยาว 0.5–1.3 ซม. ช่อดอกมีได้ถึง 20 ดอก ก้านดอกยาว 2–3 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1–1.2 ซม. มีสันตื้น ๆ 3 สัน คล้ายปีก กว้างประมาณ 1.5 มม. ปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก ยาวประมาณ 2 มม. ดอกสีขาว หลอดกลีบยาว 1–1.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5–6 แฉก ยาวประมาณ 3 มม. เกสรเพศผู้ยาว 2–5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ถึง 7 มม. ผลรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 6 มม.

พบที่คาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นบนเขาหินปูนในป่าดิบชื้น ริมลำธาร หรือตามสันเขา ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร

ชื่อพ้อง  Canscora pentanthera C.B.Clarke

ชื่ออื่น   กระเพาะปลา, ผักโหมหัดเขา, โหมหัดเขา (ภาคใต้)

โหมหัดเขา: ใบประดับรูปไข่ ติดรอบข้อ หลอดกลีบเลี้ยงมีสันตื้น ๆ 3 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Thiv, M. (2003). A taxonomic revison of Canscora, Cracosna, Duplipetala, Hoppea, Microphium, Phyllocyclus and Schinziella (Gentianaceae-Canscorinae). Blumea 46: 25–27.

Ubolcholaket, A. (1987). Gentianaceae (Canscora). In Flora of Thailand. Vol. 5(1): 73–78.